Chatchapolbook.com

ทำไมเราขนลุกเวลาหนาว ?

🥶 ทำไมเราขนลุกเวลาหนาว 🥶

………………………………………………………………..
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Ocylens คอนแทคเลนส์รายวัน
………………………………………………………………..

1.

เคยสงสัยไหมครับว่า ขนลุกเวลาหนาว มันมีหน้าที่อะไร ?

แต่ขนลุกก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตอนเราหนาวเท่านั้น
เมื่อเรารู้สึกกลัวรู้สึกตื้นตันหรือตื่นเต้น เราก็ขนลุกได้

คำถามคือ ทำไมเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันเหล่านี้ ทำให้เราขนลุกได้เหมือน ๆ กัน ?

ร่างกายเรามีปฏิกริยาตอบสนองแบบนั้นไปเพื่ออะไร ?

จะเข้าใจ เราต้องย้อนเวลากลับไปเข้าใจความเป็นมาของร่างกายกันครับ.

………………………………………………………………..

2.

กลไกนี้ของร่างกาย เป็นกลไกดึกดำบรรพ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้นบนโลกนี้ เป็นกลไกที่มนุษย์ โฮโม เซเปียนส์ รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว

ตุ่มๆที่เราเห็นเวลาเราขนลุก เกิดขึ้นมาจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่เกาะอยู่ที่รูขุมขน

ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปซึ่งมีขน เมื่อกล้ามเนื้อนี้หดตัว ขนก็จะชูตั้งขึ้น

ถ้าเราจินตนาการว่าเราเป็นมดตัวเล็กๆที่คลานอยู่บนผิวหนังของสัตว์ เราจะเห็นขนที่ตั้งขึ้น ทำหน้าที่เหมือนกำแพงสูง ที่จะกันไม่ให้อากาศที่อยู่ติดกับผิวหนังลอยออกไปที่อื่น

อากาศที่อยู่ติดผิวหนังจะเป็นอากาศที่อุ่นเพราะได้รับความร้อนจากร่างกายของสัตว์ ดังนั้น การที่ขนที่ตั้งขึ้น ก็จะทำให้สัตว์เหมือนมีอากาศอุ่นห่อหุ้มอยู่รอบตัว จึงไม่เสียความร้อนออกไปจากร่างกาย หรือพูดง่ายๆคือ ทำให้สัตว์ไม่หนาว

เช่นเดียวกัน ในวันที่อากาศหนาวๆ การใส่เสื้อที่บางแต่ใส่ซ้อนกันหลายๆชั้น อาจจะทำให้อุ่นได้ดีกว่าเสื้อหนาๆเพียงตัวเดียว เพราะมันเหมือนเป็นการสร้างกำแพงอากาศอุ่นห่อหุ้มตัวไว้หลาย ๆ ชั้น

………………………………………………………………..

3.

นอกเหนือไปจากความอุ่นแล้ว เมื่อขนตั้งชันขึ้นมา ยังทำให้เหมือนกับว่าสัตว์ตัวนั้นมีขนาดร่างกายที่ใหญ่ขึ้นด้วย

กลไกของการขนลุกจึงถูกนำไปผูกกับสมองส่วนอารมณ์ คือ เมื่อใดที่สัตว์รู้สึกกลัว โกรธ หรือเตรียมจะต่อสู้ ขนของสัตว์จะลุกชันขึ้น เพื่อขู่ศตรูว่า ฉันโตใหญ่นะ แน่ใจหรือว่าอยากจะต่อสู้ด้วย

………………………………………………………………..

4.

กลับมาที่ร่างกายของมนุษย์กันบ้าง
การที่เราขนลุกเมื่อรู้สึกหนาว แม้ว่าเราจะไม่มีขนที่จะมาให้ความอบอุ่นอีกต่อไปแล้ว นั่นเป็นเพราะ ในอดีตบรรพบุรุษของเรามีขนตามร่างกายเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ

ต่อมาแม้ว่าเราจะวิวัฒนาการจนขนเหล่านั้นหายไปหมด แต่กลไกของการขนลุกยังตกค้างอยู่ ถ้าจะเทียบก็อาจจะคล้ายๆกับ รถญี่ปุ่น หรือรถยุโรปบางคันที่ยังมีปุ่มฮีตเตอร์สร้างความร้อนคู่กับปุ่มแอร์ แม้ว่ามาขับในเมืองไทย ปุ่มนี้จะไม่มีประโยชน์ใดๆเลยก็ตาม

สำหรับการขนลุกที่เกิดขึ้นคู่กับอารมณ์นั้น จะเห็นว่า อารมณ์ที่ทำให้เราขนลุก ส่วนใหญ่จะเกิดกรณีที่เรารู้สึกตื้นตัน เช่น ร้องเพลงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศใหญ่ๆ ตื้นตันในงานแต่งงานของเพื่อนที่สนิทกันมาตั้งแต่เด็กๆ หรือ รู้สึกกลัวขึ้นมา

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะอารมณ์ตื่นเต้น ตื้นตัน กลัว หรือเพลงที่ปลุกใจจะทำให้เกิดการหลั่งของสารเคมีที่ชื่อ อะดรีนาลีน (adrenaline) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเดียวกับที่สัตว์หลั่งออกมาเวลากลัวหรือโกรธ

ผลของ adrenaline คือ เราจะขนลุก แม้ว่าในปัจจุบันเราจะไม่มีขนให้ลุกแล้วก็ตามครับ

………………………………………………………………..