Chatchapolbook.com

ไข้หวัด 1918 ตอนที่ 1

ไข้หวัด 1918 ตอนที่ 1

************

อ่านเวอร์ชั่น Blockdit ได้ที่ลิงก์นี้ครับ
https://www.blockdit.com/articles/5e9da3196a9a11575efa4cc0

************

ปีค.ศ. 1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ดำเนินมาประมาณ 3 ปีครึ่งใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว

ขณะที่ชาวโลกเริ่มมองเห็นแสงรำไรที่ปลายอุโมงค์ว่า การประหัดประหาร ที่ทำให้คนหนุ่มทั่วโลกล้มตายไปมากมายกำลังจะจบลง

แต่แล้วก็ความตายชนิดใหม่ค่อยๆเข้ามาแทนที่

โรคไข้หวัดที่ระบาดในปีค.ศ. 1918 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ

ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้นยากที่จะประเมิน เพราะเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวกับสงครามโลก

ในช่วงแรก ประมาณกันว่าในช่วงที่โรคระบาดนานประมาณ 18 เดือนน่าจะมีคนเสียชีวิตจากโรคประมาณ 20 ล้านคน ต่อมาเมื่อนักประวัติศาสตร์ศึกษาและมีข้อมูลเพิ่มขึ้น ก็เชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าจะสูงกว่านั้น

ปัจจุบันประมาณกันกว้างๆว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื่อไวรัส H1N1 ครั้งนั้น ประมาณ 50 ถึง 100 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งถือว่าสูงมาก สูงกว่าตัวเลขของทหารที่ตายไปในสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก

และยิ่งน่าตกใจเมื่อเทียบว่าขณะนั้นโลกมีประชากรประมาณแค่ 1 พัน 8 ร้อยล้านคนเท่านั้น

แต่สิ่งที่แปลกมากสำหรับโรคระบาดในครั้งนั้นคือ เมื่อโรคระบาดสิ้นสุดลง ก็เหมือนว่าคนทั้งโลกก็พร้อมใจจะลืมเหตุการณ์ครั้งนั้นไปเสียเฉยๆ แทบจะไม่มีอนุสาวรีย์ หรือกิจกรรมระลึกถึง

บทเพลง บทกวี หรือวรรณกรรม ที่เขียนถึงก็มีน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับการเขียนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือสงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจน้อยมาก แม้แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนถึงช่วงเวลานี้ก็มักจะเอ่ยถึงสั้นๆ ไม่กี่ย่อหน้า หนังสือประวัติศาสตร์การแพทย์เองก็แทบจะไม่เขียนรายละเอียดของเหตุการณ์นี้อยู่นาน หมอส่วนใหญ่ทั่วโลกเรียนจบหมอโดยไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าเคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น

โรคไข้หวัด 1918 ถูกโลกลืมไปนานเกือบ 70 ปี ก่อนจะเริ่มมีการเขียนหรือพูดถึงอีกครั้งเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วนี้เอง และถ้าไม่มีการระบาดของโรคไข้หวัด SARS ในปีค.ศ. 2002 และ Covid-19 แล้วทำให้ โรคไข้หวัด 1918 ถูกนำพูดถึงกันในวงกว้าง ประชาชนทั่วไปก็อาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อของไข้หวัด 1918 ก็เป็นได้

โลกลืมฝันร้ายครั้งนั้นไปเฉยๆ เหมือนกับที่เราตื่นจากฝันร้ายขึ้นมาแล้วไม่นานเราก็จำไม่ได้ว่าเมื่อคืนเราฝันว่าอะไร

ไม่มีใครรู้จริงๆว่าทำไมโลกจึงเพิกเฉยกับความตายของคนจำนวนมหาศาลนี้ไปได้ เราได้แต่คาดเดาไปต่างๆนาๆ คนที่อยู่ในเหตุการณ์อาจจะชินชากับความตายจากสงครามโลกที่ดำเนินมา 3 ปีก่อนหน้า หรือ ความตายที่เกิดขึ้นบนความทุกข์จากสงครามโลก อาจจะมากเกินไปจนผู้คนไม่อยากพูดถึงสิ่งที่เลวร้ายเหล่านี้อีกแล้ว เมื่อทุกอย่างผ่านไปก็อยากจะลืมๆสิ่งเหล่านี้ไว้ด้านหลังแล้วมองไปข้างหน้า ใช้ชีวิตกันต่อไป

แต่ประวัติศาสตร์ก็สอนเราหลายครั้งว่า ชนรุ่นหลังไม่ควรลืมความเจ็บปวดที่คนรุ่นปู่ย่าตายาย เคยผ่านมาก่อน เพราะการเรียนรู้ว่าคนในเจเนอเรชั่นก่อนเราทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง จะช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดได้ดีขึ้น และหวังว่าเราจะไม่ทำผิดซ้ำเดียวกับที่บรรพบุรุษเราเคยทำผิดมาก่อน

ดังนั้นเรามาเดินทางหลงไปในประวัติศาสตร์ด้วยกันอีกครั้งนะครับ เราจะกลับไปเผชิญหน้ากับไวรัสตัวนี้ด้วยกัน

2.

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักยุคสมัยที่เราจะเดินทางกันไปเสียก่อนสักนิดนะครับ เพื่อที่จะได้พอนึกออกว่าคนยุคนี้เขารู้อะไรกันบ้าง

ยุคที่เราเดินทางมาถึงนี้ แน่นอนว่ายังไม่มีอินเตอร์เนต ไม่มีคอมพิวเตอร์ ยังไม่มีทีวี แต่มีวิทยุใช้กันมาสัก 20 ปีแล้ว มีโทรศัพท์ใช้กันมาสัก 40 กว่าปีแล้ว ดังนั้นการสื่อสารทางไกลพอจะทำกันได้แต่ไม่แพร่หลายและสะดวกมากนัก

ในแง่ของการเดินทาง ยุคนี้ยังไม่มีเครื่องบินโดยสารสำหรับคนทั่วไป ถ้าจะเดินทางไปต่างประเทศ ต้องเดินทางด้วยรถไฟหรือไม่ก็เรือเดินสมุทร ดังนั้น จึงถือว่าเป็นยุคสมัยที่คนต่างๆทั่วโลกเชื่อมต่อกันได้ค่อนข้างเร็วแล้ว

คราวนี้มาดูความรู้ทางการแพทย์กันบ้าง

ถ้าเราเดินไปตามท้องถนน แล้วถามคนที่เดินผ่านไปมาว่ารู้จักเชื้อโรคไหม คนส่วนใหญ่จะตอบว่ารู้จัก และรู้ว่า เชื้อโรคคือแบคทีเรีย

แต่ถ้าถามต่อว่ารู้จักไวรัสไหม คนส่วนใหญ่จะทำหน้างงๆแล้วตอบว่าไม่รู้จัก
ถ้าคุณถามต่อไปอีกว่า โรคหวัดเกิดจากอะไร คำตอบที่ได้จะหลากหลาย

บางคนจะตอบว่าไม่รู้ บางคนจะตอบว่าน่าจะเป็นแบคทีเรีย และคนส่วนน้อยจะตอบกลับมาว่า เกิดจากอากาศพิษ

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคุณนำคำถามเดียวกันเดินเข้าไปในโรงพยาบาล คุณก็จะได้รับคำตอบกลับมาคล้ายๆกัน นั่นคือ หมอไม่รู้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัส และหมอแก่ๆบางคนยังเชื่ออยู่ว่าโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากอากาศพิษ

พอได้ไอเดียกันแล้วนะครับ ว่ายุคสมัยนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าเช่นนั้น เราเดินทางกันต่อครับ

ผมจะพาเดินทางไปภาคกลางของประเทศอเมริกากัน เราจะเดินทางไปยัง county หรืออำเภอเล็กๆแห่งหนึ่งที่ชื่อ แฮสเกิล (Haskell county) ในรัฐแคนซัส (Kansas) กัน

ทำไมเราถึงไปที่นี่หรือครับ ? เพราะแฮสเกิล อาจจะเป็นสถานที่กำเนิดของโรคไข้หวัดที่สังหารคนไปกว่า 50 ล้านคนครับ

3.

ถ้าว่ากันตามจริง เราก็ยังไม่รู้หรอกครับว่า โรคหวัดที่ระบาดไปทั่วโลกในครั้งนั้นเริ่มต้นขึ้นที่ไหน

ลองนึกภาพดูนะครับ โลกที่กำลังวุ่นวายอยู่กับสงครามโลก
ภาวะขาดอาหาร อากาศที่หนาวเย็น ความเครียด สุขอนามัยที่แย่กว่าภาวะปกติ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้คนป่วยเป็นโรคไข้หวัดได้ ดังนั้น ในช่วงปี 1916 หรือ 1917 จึงมีโรคหวัดระบาดขึ้นในพื้นหลายที่ทั่วโลก

นักวิชาการบางคนก็เชื่อว่าโรคหวัดที่ระบาดไปทั่วโลกครั้งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่ฝรั่งเศส บางคนเชื่อว่าเกิดที่จีน บางคนบอกว่าเริ่มต้นที่เวียดนาม

แต่ที่แน่ๆอย่างหนึ่งคือ ไม่ได้เกิดขึ้นที่สเปน แม้ว่าโรคระบาดครั้งนี้จะมีอีกชื่อหนึ่งว่า ไข้หวัดสเปนก็ตาม

แต่ที่ผมพามาที่รัฐแคนซัส ก็เพราะว่า สุดท้ายผมต้องพาคุณไปเริ่มต้นเดินทางที่ไหนสักแห่ง ในเมื่อยังไม่ฟันธงกันว่า ไข้หวัดที่กำลังจะระบาดนี้เริ่มต้นที่ไหน ผมก็ขอเลือกที่นี่ก็แล้วกัน

แต่ที่แฮสเกิล ก็มีข้อมูลที่สนับสนุนว่าน่าจะเป็นต้นตอมากพอสมควรเช่นกัน (แต่ข้อมูลที่แย้งก็มี)

ข้อสนับสนุนแรกก็อย่างที่เห็นรอบๆตัวนี่แหละครับ จะเห็นว่าบริเวณรอบๆแฮสเกิล เป็นพื้นที่ชนบท ชาวไร่ชาวนายังเลี้ยงหมู วัว ม้า ไก่ กันอย่างใกล้ชิดโดยไม่มีคอกกั้นระหว่างกัน ดังนั้น โอกาสที่ไวรัสจากไก่จะบังเอิญหลุดเข้าไปในหมู แล้วเกิดผสมพันธุกรรมจนกลายเป็นไวรัสชนิดใหม่ก็มีได้มาก

นอกจากนี้ดูบนท้องฟ้าสิครับ เห็นนกที่บินย้ายถิ่นมากมายไหมครับ

พื้นที่บริเวณนี้ยังมีความเสี่ยงอีกข้อ คือ เป็นเส้นทางบินผ่านของนกที่บินย้ายถิ่นฐานอย่างน้อยๆก็ 17 สปีชีส์ และแน่นอนว่าเมื่อนกเหล่านี้แวะหยุดพัก ก็มีโอกาสที่นกเหล่านี้จะแลกเปลี่ยนไวรัสกับนกหรือไก่ ที่อาศัยอยู่ประจำถิ่น ก็มีมาก

หรือถ้าจะมองในมุมของไวรัส ก็อาจจะพูดง่ายๆว่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งไวรัสที่อาศัยใน หมู ไก่ ม้า คนและนกหลายสายพันธุ์ มีโอกาสเจอกันได้ง่าย พอเจอกันแล้วก็อาจจะมีการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกันบ้าง จนเกิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมาได้

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เอี่ยม ที่สามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์ �
ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เอี่ยมที่ไม่มีพันธุกรรมของมนุษย์คนไหนในโลก เคยพบเจอมาก่อน !!

4.

หมอ ลอริ่ง ไนเนอร์ (Loring Miner) ซึ่งประจำอยู่ที่แฮสเกิลรู้สึกกังวลใจกับสิ่งที่เขาเห็น
ความรู้สึกมันบอกเขาว่า หวัดที่เห็นมันไม่เหมือนปกติ
ไข้หวัดเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นประมาณปลายเดือน มกราคม ปีค.ศ. 1918

เริ่มต้นจากผู้ป่วยคนแรก มาด้วยอาการธรรมดาๆ ปวดหัว ไอแห้งๆ ไข้ ปวดเมื่อตามตัว
เขาตรวจและรักษาโรคไข้หวัดมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว อาการก็คล้ายแบบนี้ แต่สิ่งที่ต่างไปคือ ความรุนแรงของอาการ เพราะผู้ป่วยคนนี้ไข้สูง ไอหนัก ปวดหัวและปวดตามตัว มากกว่าผู้ป่วยคนอื่นๆที่เขาเคยเจอ ถ้าผู้ป่วยไม่เวอร์เกินไป โรคไข้หวัดนี้ก็คงมีอะไรที่ต่างไป
แต่แล้ว ก็มีผู้ป่วย รายที่ 2 รายที่ 3 รายที่สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า …

หลังจากที่หมอไมเนอร์ รักษาผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายๆกัน ไปมากกว่าสิบคน เขาก็รู้สึกแล้วว่า โรคหวัดที่เห็นมันไม่เหมือนหวัดทั่วๆไป
และที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่โรคจะมีอาการรุนแรงกว่าหวัดทั่วไป แต่หวัดตัวนี้ฆ่าคนมากกว่าปกติด้วย

โรคหวัดที่ปกติจะเวียนมาระบาดเรื่อยๆทุกปี มักจะฆ่าคนแก่หรือเด็กอายุน้อยๆที่ภูมิไม่แข็งแรง แต่หวัดตัวนี้เหมือนเจาะจงจะฆ่าคนหนุ่มสาวเป็นหลัก

เขาไม่รู้ว่าโรคหวัดนี้มันคืออะไร เขาจึงโทรถามเพื่อนหมอด้วยกัน โทรถามสาธารณสุข แต่ก็ไม่มีใครช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เผชิญนี้ได้มากนัก

นักข่าวท้องถิ่นพอจะรับรู้เกี่ยวกับการระบาดของโรคหวัดที่ฆ่าคนหนุ่มสาวบ้าง แต่เนื่องจากภาวะสงครามทำให้รัฐออกกฎหมายลงโทษนักข่าวที่เขียนข่าวทำลายขวัญและกำลังใจของประชาชน ใครเขียนข่าวไม่ระวังแล้วเข้าข่ายทำลายขวัญกำลังใจ มีสิทธิ์ที่จะโดนติดคุกเป็นสิบปีได้ ข่าวการระบาดของโรคระบาดจึงไม่ถูกรายงานในหนังสือพิมพ์

อย่างไรก็ตาม ข่าวการแจ้งเสียชีวิตและจัดงานศพของคนหนุ่มสาวที่เสียชีวิตโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ก็ปรากฎขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ถี่จนผู้คนรู้กันดีว่า ขณะนี้มีโรคร้ายระบาดเกิดขึ้นแล้ว

โรคระบาดอยู่นานเดือนกว่าๆ แต่พอเข้าเดือนมีนาคม โรคระบาดก็หยุดไปเฉยๆ

การหายไปของโรคจะว่าไปแล้วก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะแฮสเกิล เป็นอำเภอเล็กๆที่มีประชากรไม่หนาแน่น เมื่อโรคระบาดไปถึงจุดหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่ได้รับเชื้อและมีภูมิกันจนมากพอแล้ว ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า herd immunity

จากนั้นเชื้อไวรัสก็ไม่มีเหยื่อให้สามารถติดต่อไปได้อีก

พอถึงกลางมีนาคม ผู้คนก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ โรงเรียนเปิดเรียน ชายหนุ่มหญิงสาวกลับไปทำงานเหมือนเดิม แล้วโรคระบาดก็ถูกข่าวของสงครามโลกครั้งที่ 1 ดึงความสนใจจนผู้คนลืมเรื่องนี้ไป

แต่หมอไมเนอร์ยังไม่ลืม …

ในยุคนั้น โรคหวัดไม่ใช่โรคระบาดที่จำเป็นต้องรายงานให้กับทางรัฐทราบ แต่หมอไมเนอร์ คิดว่าบางอย่างมันไม่ปกติ เขาคิดว่าโรคนี้แม้ว่าจะจบไปแล้ว แต่น่าจะมีการมาศึกษาหรือติดตามว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้ยังไง เขาจึงตัดสินใจเขียนรายงานเหตุการณ์แจ้งให้กับทางสาธารณสุขรับรู้ไว้

ทุกวันนี้ต้นฉบับของรายงานที่หมอไมเนอร์เขียนรายละเอียดไว้หายไปหมดแล้ว แต่บันทึกสั้นๆว่า หมอไมเนอร์ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับโรคหวัดระบาดยังคงอยู่

รายงานฉบับนั้น ก็เป็นรายงานฉบับแรกและฉบับเดียวของโลก ที่เขียนถึง การระบาดของโรคหวัด ในช่วง 6 เดือนแรกของปีค.ศ. 1918

ถ้าไม่มีรายงานฉบับนี้หลงเหลือไว้เป็นหลักฐาน คงอยากที่จะเชื่อว่าไข้หวัดที่กำลังเริ่มต้นระบาดขึ้นในค่ายทหาร ฟันสตัน (Funston) ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปประมาณ 500 กิโลเมตรจะเกี่ยวข้องกับไข้หวัดในอำเภอเล็กๆแห่งนี้

แต่การเดินทาง 500 กิโลเมตรของไวรัสกลุ่มนี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เพราะอีกไม่นานไวรัสเหล่านี้จะออกเดินทางไกลอีกครั้ง แล้วไปสร้างความหวาดกลัวให้กับคนเกือบทุกทวีปทั่วโลก ….

5.

ค่ายทหารฟันสตัน (Funston) เป็นค่ายทหารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอเมริกา

ค่ายทหารแห่งนี้ เป็นค่ายทหารที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่อย่างเร่งรีบไม่ต่างไปจากค่ายทหารอื่นๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับเตรียมความพร้อมของชายหนุ่มชาวอเมริกันที่เพิ่งสมัครเข้ามาเป็นทหารก่อนจะถูกส่งต่อไปยังสมรภูมิรบในยุโรป

แม้ว่าอเมริกาจะพยายามสร้างค่ายฝึกทหารขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วจำนวนมากในเวลาสั้นๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้แต่ละค่ายมีทหารอาศัยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น

ค่ายฟันสตันเองในแต่ละช่วงเวลาก็อาจจะมีทหารเวียนเข้ามาพักอยู่ร่วมกันมากขึ้น 56,000 คน

การอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นเช่นนี้ ช่างเหมาะต่อการระบาดของโรคเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ฤดูหนาวของปีนั้นยังเป็นปีที่หนาวเย็นเป็นพิเศษ แต่ค่ายทหารที่สร้างขึ้นอย่างรวดเร็วก็มีเครื่องทำความร้อนให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทหารจำนวนมากจึงแอบไปรวมตัวกันใกล้ๆเตาผิงหรือหม้อต้ม

ไม่มีใครรู้ว่า โรคไข้หวัดเดินทางจากอำเภอ แฮสเกิล (Haskell County) มาที่ค่ายฟันสตันที่ห่างออกไปเกือบ 500 กิโลเมตรเมื่อไหร่ แต่เราพอจะมีหลักฐานว่ามีคนที่เดินทางระหว่างสองพื้นที่นี้บ้าง เช่น

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงที่โรคยังคงระบาดที่แฮสเกิล นายทหารหนุ่มชื่อ ดีน นิลสัน เดินทางจากค่ายฟันสตันกลับไปเยี่ยมภรรยาที่แฮสเกิล ก่อนจะเดินทางกลับมาที่ค่ายฟันสตันอีกครั้ง

ช่วงเวลาใกล้ๆกันหญิงสาวชื่อเอิรนสท์ เอเลียต ตัดสินใจเดินทางจากแฮสเกิลเพื่อเยี่ยมสามีที่ค่ายทหารแม้ว่าลูกจะเริ่มมีอาการหวัดเล็กน้อย แต่เมื่อเธอเดินทางกลับมาบ้านก็พบว่าอาการหวัดเล็กน้อยนั้นกลับลุกลามจนกลายเป็นโรคปอดบวม ดังนั้นเธอก็อาจจะนำไวรัสเดินทางติดตัวไปด้วย

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลงข่าวสังคมเล็กๆว่า จอห์น บอททอม (John Bottom) เดินทางจากแฮสเกิล ไปเป็นทหารที่ค่ายฟันสตัน

เราไม่รู้ว่าใครคนไหนเป็นคนนำไข้หวัดไประบาด

แต่เรารู้ว่า เพียงแค่คนเดียวก็เกินพอจะทำให้เกิดโรคระบาดได้แล้ว

6.

วันที่ 4 มีนาคม

พลทหารที่ทำหน้าที่เป็นพ่อครัวชื่ออัลเบิร์ต กิตเชล (Albert Gitchell) ไปรายงานตัวที่สถานพยาบาลในค่ายทหาร ด้วยอาการของโรคไข้หวัด

ไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง คือบ่ายของวันนั้นจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดในค่ายก็เพิ่มขึ้นไปแตะหลักร้อย

3 สัปดาห์ถัดมา จำนวนคนป่วยที่อาการหนักจนต้องนอนในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นไปถึง 1,100 คน ที่ป่วยแต่ไม่ถึงกับต้องนอนโรงพยาบาลก็อีกเป็นพันคน
แต่ในจำนวนผู้ป่วยหลายพันคนนี้มีคนเสียชีวิตแค่ 38 คนเท่านั้น เหมือนกับว่า หวัดจากแฮสเกิลที่เดินทางมาถึงค่ายฟันสตันนั้นจะกลายพันธุ์จนเป็นหวัดที่มีความดุร้ายน้อยลง

แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ไวรัสหวัดตัวนี้จะลืมความดุร้ายของมันไปอย่างถาวร ซึ่งเราจะได้เห็นกันต่อไป

ทหารที่ค่ายฟันสตันไม่ได้ฝึกอยู่ที่ค่ายนี้แต่เพียงแห่งเดียว แต่มีการหมุนเวียนทหารจำนวนมากไปค่ายทหารอื่นๆในอเมริกาด้วย โรคไข้หวัดจึงเริ่มระบาดไปยังค่ายทหารอื่นๆ สุดท้ายในจำนวนค่ายทหารใหญ่ๆ 36 แห่งของอเมริกา พบว่ามีโรคระบาดถึง 24 ค่ายด้วยกัน

โรคหวัดนี้ไม่ได้จำกัดแค่ในค่ายทหาร เพราะเมื่อทหารจากค่ายต่างๆ ลากลับไปเยี่ยมบ้าน หรือญาติมาเยี่ยมทหารที่ค่าย ไวรัสก็เดินทางกลับไประบาดในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันด้วย

ในที่สุด เวลานั้นก็มาถึง ทหารอเมริกันพร้อมที่จะเดินทางไปยุโรป

แน่นอนว่า ไม่ได้มีแต่ทหารอเมริกันเท่านั้นที่จะเดินทางไปยุโรป ไวรัสไข้หวัด 1918 ก็ขึ้นเรือเดินทางไปด้วย การเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศครั้งแรกของไวรัสกลุ่มนี้ เริ่มต้นขึ้นแล้ว และแน่นอนว่ามันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ….