Chatchapolbook.com

13 อาณานิคม ประวัติศาสตร์เริ่มต้นของอเมริกา ตอนที่ 4

1.

นึกภาพนะครับว่าคุณเป็นชาวยุโรปที่เติบโตมาในยุโรปตลอดชีวิต แล้วจู่ๆ มีคนมาชวนคุณย้ายไปอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าโลกใหม่ เป็นดินแดนที่ยังมีสภาพเป็นป่า เป็นหนองน้ำ ไหนจะเสี่ยงกับภาวะขาดอาหาร หรือโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่รู้จัก คุณต้องไปเริ่มต้นสร้างอารยธรรมแบบตะวันตกใหม่ทั้งหมดเลย คำถามคือคุณจะไปไหม?

ถ้าเราคิดในมุมมองของคนที่มาบุกเบิกจะทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่าการมาเช่นนี้ เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่อันตรายมาก และคนที่มาตั้งรกรากในแต่ละรอบไม่ได้มีแต่ชายฉกรรจ์ที่พร้อมจะผจญภัย แต่มีผู้หญิงเด็กและบางครั้งรวมถึงทารกด้วย

มันก็เลยชวนให้สงสัยว่ากลุ่มคนที่มานั้นเขาเป็นใคร เขาคิดยังไง แล้วมาในรูปแบบไหน

เรามาเริ่มต้นที่คนต้นคิดกันก่อน

อย่างที่เราเคยคุยกันไปตอนที่เราคุยกันเรื่องของ Dutch East India company และ British East India (ถ้ายังไม่ได้ฟังลองไปหาฟังดูได้นะครับ มีทั้งรูป podcast และคลิป น่าจะยังไม่ได้เขียนในรูปบทความ แต่ถ้าใครชอบอ่านมากกว่าคอมเมนต์บอกไว้ได้) ว่าการเดินเรือมาค้าขายในโลกใหม่ ถือว่าเป็นการลงทุนสร้างธุรกิจ import/export แบบหนึ่ง โดยก่อนจะส่งเรือออกไปได้ ต้องขออนุญาตจากกษัตริย์ก่อนเพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า ชาร์ตเตอร์ (Charter คล้ายๆ ได้รับสัมปทาน) เพื่อไปสำรวจ ตั้งรกรากและค้าขายในดินแดนนั้นๆ

แต่การส่งเรือมาค้าขายแต่ละลำจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก มีความเสี่ยงที่สูงมาก จึงไม่ค่อยมีใครอยากจะลงเงินทั้งหมดของตัวเองไปกับการส่งเรือออกมาสักลำ และเพื่อแก้ปัญหานี้ การลงขันหรือร่วมหุ้นเพื่อทำธุรกิจจึงเกิดขึ้น และเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า Joint-stock company ถ้าการเดินเรือค้าขายสำเร็จก็แบ่งกำไรกันไป ถ้าเรืออับปาง โดนปล้นหรือหายไปเฉยๆ ทุกคนก็แบ่งกันรับผิดชอบไปตามจำนวนหุ้นที่มีของตัวเอง หรือ เป็นบริษัทจำกัด (ความรับผิดชอบ) อย่างที่เราคุ้นเคยกันดีในทุกวันนี้

แล้วก็เหมือนบริษัทข้ามชาติทุกวันนี้ คือ เมื่อบริษัทไปค้าขายที่ประเทศไหน ก็อยากมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศนั้น เพื่อจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่จำเป็น เช่น การไปหาซื้อสินค้าท้องถิ่นมาเก็บสต๊อกไว้ มีคนเฝ้าสินค้า มีคนไปครอบครองดินแดน (ต่อมาเมื่อสินค้าเป็นสินค้าเกษตร ก็อยากส่งคนของตัวเองไปเพาะปลูกเองที่นั่น)

ถ้ามองแบบนี้ ชาวอาณานิคมกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางไปก็เหมือนเป็นพนักงานบริษัทหรือ expat ที่ไปประจำอยู่ในสาขาต่างประเทศ

คำถามต่อไปคือ แล้วใครจะยอมไปบ้าง?

คำตอบคือ คนที่ไม่เห็นอนาคตตัวเองและครอบครัวในยุโรป

ด้วยความที่ในช่วงเวลานั้น ยุโรปซึ่งมีพื้นที่เล็ก มีประชากรอยู่กันค่อนข้างหนาแน่นมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ทำให้คนจำนวนมากยากจน และลำบากมาก จนมองว่า การไปเสี่ยงโชคในดินแดนใหม่ อาจจะมีอนาคตที่ดีกว่า หลายคนจึงพาครอบครัวขึ้นเรือไปตายเอาดาบหน้า

2.

เดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1606 เรือที่ขนคนจากอังกฤษมายังเมืองเจมส์ทาวน์ ทั้งหมด 3 ลำ โดยการสนับสนุนจากบริษัท Virginia Company of London แล่นออกจากท่าเรือในอังกฤษ เรือทั้งสามนี้มีชื่อว่า ซูซาน คอนสแตนท์ (Susan Constant) ก็อดสปีด (Godspeed) และดิสคะวอรี่ (Discovery) โดยมีผู้โดยสารมากับเรือทั้งสามลำนี้ประมาณ 104 คน เป้าหมายของเรือทั้งสามลำนี้คือดินแดนที่มีชื่อว่า Virginia ซึ่งตั้งตามพระนามของพระราชินี Elizabeth I ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Virgin queen

หลังจากล่องเรือกลางมหาสมุทรประมาณ 4 เดือนกว่าๆ เรือทั้งสามลำก็มาถึงอ่าว เชซาพีก (Chesapeake) ซึ่งเป็นจุดหมาย จากนั้นก็แล่นทวนแม่น้ำเจมส์ขึ้นไปจนกระทั่งไปเจอพื้นที่ซึ่งคิดว่าเหมาะสม แล้วพวกเขาก็ตั้งเมืองชื่อว่า Jamestown ขึ้นมาตามพระนามของกษัตริย์ พระเจ้า James I ของอังกฤษ

แต่ด้วยความที่คนเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะมารับมือกับสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบาก หลายคนเป็นนักผจญภัยที่ต้องการมาหาทองคำ จึงไม่ได้มีทักษะต่างๆ ที่จำเป็นจะอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากๆ ไม่มีทักษะแม้แต่การเพาะปลูก ทำไร่ทำนา สร้างบ้านจากต้นไม้ก็ยังทำไม่ค่อยเป็น

ดังนั้นในช่วงแรกชาวเมืองเจมส์ทาวน์จึงอยู่กับอย่างแร้นแค้น ต้องเผชิญยุงป่า โรคระบาดทั้งไข้ป่า (มาลาเรีย) ไทฟอยด์ ท้องเสีย พืชท้องถิ่นก็ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าอะไรกินได้บ้าง ทำให้เกิดภาวะขาดอาหารอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำสินค้าไปแลกเปลี่ยนอาหารกับชนพื้นเมือง

ความรุนแรงของการขาดอาหารเลวร้ายสุดในช่วงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1609 ถึงขนาดมีบันทึกของชาวอาณานิคมว่า มีคนที่หิวมากถึงขนาดต้องกินเนื้อคนที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า และอาจจะถึงขั้นไปขุดหลุมศพเพื่อนำเนื้อคนมากิน ช่วงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1609 – 1610 จึงเป็นช่วงเวลาที่ปัจจุบันเรียกว่าเป็น Starving Time ของเมืองเจมส์ทาวน์

ฟังดูเหมือนว่าการพยายามตั้งเมืองครั้งนี้ไม่น่าจะรอด แต่สุดท้ายเมืองเจมส์ก็อยู่รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ คำถามคือ เมืองนี้รอดมาได้ยังไง?

คำตอบคือใบยาสูบ เพราะหลังจากดิ้นรนอยู่พักนึง กลุ่มคนที่มาตั้งรกรากก็พบว่า ยาสูบสามารถทำเงินให้กับพวกเขาได้ เพราะหลังจากที่มีคนนำใบยาสูบไปให้ชาวยุโรปลองสูบ ชาวยุโรปก็ติดการสูบบุหรี่กันอย่างรวดเร็ว ดังนั้นประมาณหลังปี ค.ศ. 1619 เป็นต้นมา ชุมชนนี้ก็เปลี่ยนมาปลูกใบยาสูบเป็นรายได้หลัก ทำให้เมืองเจมส์ทาวน์เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ คนจากอังกฤษอพยพมาที่เมืองนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเมืองแรกประสบความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐาน เมืองที่สองก็ตามมา

3.

เมืองที่มาตั้งรกรากสำเร็จเป็นเมืองที่สอง เริ่มต้นเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อทางศาสนาขัดกับศาสนาของรัฐในเวลานั้น โดยพวกเขามองว่า Church of England มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ถูกต้อง และต้องการที่จะให้ศาสนาคริสต์ที่เขานับถือมีความบริสุทธิ์เป็นโปรเตสแตนต์มากกว่านี้ นิกายของคนกลุ่มนี้จึงมีชื่อเรียกว่าเป็น Puritans และไม่ใช่แค่เชื่อต่าง แต่ยังต้องการจะแยกศาสนาออกมา ทำให้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Separatists ซึ่งหมายถึงการแยกตัว

แน่นอนว่าทางรัฐบาลอังกฤษซึ่งต้องการความเป็นหนึ่งเดียวของศาสนาก็ไม่ยอม และพยายามจะปราบปราม สุดท้ายในปี ค.ศ. 1608 คนกลุ่มนี้จึงต้องขึ้นเรือและหนีไปที่ยังดินแดนที่เปิดกว้างในการนับถือศาสนามากกว่าอังกฤษ และเพราะด้วยความที่เป็นการเดินไกลเพื่อเหตุผลทางศาสนา พวกเขาจึงเรียกตัวเองว่า Pilgrims ซึ่งก็หมายถึงการจาริกแสวงบุญ

และดินแดนแรกที่พวกเขาเลือกไปตั้งรกรากคือ เนเธอร์แลนด์

แต่หลังจากปักหลักอยู่ที่เมือง Leiden ประเทศเนเธอร์แลนด์ประมาณ 12 ปี พวกเขาก็อยากจะหาบ้านใหม่อีกครั้ง ด้วยสองเหตุผลหลัก หนึ่งคือ เศรษฐกิจ เพราะอยู่เนเธอร์แลนด์พวกเขาต้องทำงานระดับล่าง ทำให้มีเงินไม่ค่อยพอใช้ สองคือ เพราะเริ่มเห็นว่ารุ่นลูกมีความเป็นคนอังกฤษและมีวัฒนธรรมของอังกฤษน้อยลง เลยกลัวว่าจะเสียรากเหง้าทางวัฒนธรรม จึงตัดสินใจเดินทางอีกครั้ง โดยครั้งนี้ตั้งใจว่าจะเดินทางไปยังโลกใหม่ แล้วเริ่มต้นสังคมของพวกเขากันใหม่หมด

แต่ด้วยความที่พวกเขาก็ยังเป็นประชาชนของกษัตริย์อังกฤษ ดังนั้นการจะไปตั้งรกรากที่อเมริกา ก็ยังต้องขออนุญาต พวกเขาจึงตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาชื่อว่า Plymouth company ตามชื่อของท่าเรือที่อังกฤษซึ่งพวกเขาใช้ออกเดินทางไปยังโลกใหม่ และเรือที่พาพวกเขาไปสู่ทวีปอเมริกาเป็นเรือที่มีชื่อเสียงในทางประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบันชื่อว่า เรือเมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower)

ความตั้งใจแรกของพวกเขาคือ เดินทางไปที่เวอร์จิเนียแต่ด้วยลมพายุทำให้เมื่อเทียบท่าพบว่าพวกเขาอยู่ทางทิศเหนือกว่าที่ตั้งใจไว้ค่อนข้างมาก พวกเขาเรียกสถานที่ตั้งรกรากของเขาว่าพลีมัธ (Plymouth) ก่อนที่ในเวลาต่อมาชุมชนของพวกเขาจะเติบโตมาเป็นรัฐ Massachusetts ในปัจจุบัน

แม้ว่าดินแดนนี้จะเคยมีกัปตันเรือชาวอังกฤษที่ชื่อ จอห์น สมิธ (Johm Smith คนเดียวกับในเรื่อง โพคาฮอนทัส) แต่ก็ไม่ได้ทำให้การตั้งรกรากง่ายขึ้น พวกเขาต้องเผชิญชะตากรรมคล้ายกับที่เจมส์ทาวน์ ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดอาหาร โรคภัยไข้เจ็บที่ไม่รู้จัก ทำให้ช่วงฤดูหนาวของปีแรกพวกเขาต้องเสียสมาชิกในชุมชนไปประมาณครึ่งนึง แต่สุดท้ายพวกเขาก็อยู่รอดกันมาได้จากความช่วยเหลือของชนพื้นเมืองเผ่าวัมพาน็อก (Wampanoag) โดยนำอาหารมาให้เพื่อบรรเทาความหิว สอนเทคนิคการเพาะปลูกและทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นในการอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาไม่คุ้นเคย

และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ยังจดจำมาถึงทุกวันนี้คือ การเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวร่วมกันระหว่างชุมชนพลีมัธกับสมาชิกเผ่า Wampanoag ในปี ค.ศ. 1621 ซึ่งเป็นที่มาของเทศกาล Thanksgiving

4.

ทั้งเมืองเจมส์ทาวน์และพลีมัธแม้ว่าจะเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีสมาชิกแค่หลักร้อย แต่เมืองทั้งสองจะวางรากฐานที่สำคัญให้กับความเป็นอเมริกันหลายอย่าง ที่เราสามารถเห็นมาได้จนถึงทุกวันนี้ เช่น

หนึ่ง เรื่องของความหลากหลายในสิ่งที่สนใจ โดยจะเห็นว่าชุมชนของเจมส์ทาวน์มาด้วยเรื่องของเงิน โอกาสและความร่ำรวย พลีมัธมาด้วยเรื่องของเสรีภาพในการนับถือศาสนา

สอง ความล้มเหลวของทั้งสองเมืองที่จะทำเงินให้กับประเทศแม่ในช่วงแรก ทำให้อังกฤษค่อนข้างที่จะปล่อยให้มีอิสระที่จะดูแลตนเอง ทั้งในแง่ศาสนา หรือการปกครอง คืออังกฤษจะไม่ควบคุมมากเท่าสเปน และปล่อยให้ปกครองหรือดูแลตัวเองกันไป มีรัฐบาลของตัวเอง ไม่เข้มงวดเรื่องการเก็บภาษีมากนัก ลักษณะการปล่อยให้มีอิสระเช่นนี้ มีคำเรียกว่า salutary neglect ทำให้ชาวอาณานิคมเหล่านี้มีการเลือกตัวแทนของพวกเขาขึ้นมาปกครองกันเอง และมีสภาที่ตั้งกันขึ้นมาเองเพื่อช่วยในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ

และแน่นอนว่าเมื่ออาณานิคมเริ่มสร้างรายได้มากขึ้น และอังกฤษต้องการที่จะควบคุมอเมริกามากขึ้นก็จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่สงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา (ที่เราอาจจะไปคุยกันในตอนหน้า)

และเพราะความสำเร็จในการตั้งเมืองของทั้งสองชุมชนนี้ ผู้อพยพจากอังกฤษและยุโรปอื่นก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายเกิดเป็น 13 อาณานิคม ที่ในเวลาต่อมาจะประกาศอิสรภาพจากประเทศแม่ แล้วเกิดเป็น13 รัฐแรกของอเมริกา

ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้าย เราจะไปทำความรู้จักกับ 13 อาณานิคมนี้กันครับ