Chatchapolbook.com

10 วันสำคัญที่ทำให้อเมริกาสร้างชาติขึ้นมาได้ (George Washinton’s crossing of the Delaware River)

10 วันสำคัญที่ทำให้อเมริกาสร้างชาติขึ้นมาได้ (George Washinton’s crossing of the Delaware River)

ในแต่ละประเทศจะมีเรื่องราวที่เล่าต่อๆ กันมาถึงเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเอง

ประเทศอเมริกาที่ปัจจุบันเป็นมหาอำนาจของโลก ก็มีเหตุการณ์นั้นเช่นกัน

เรื่องราวที่จะเล่านี้ ชาวอเมริกันเชื่อว่าเป็น 10 วันสำคัญ ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของประเทศไปอย่างสิ้นเชิง หรืออาจจะต้องพูดว่า ถ้าไม่มี 10 วันนี้ก็คงไม่มีอเมริกาอย่างที่เป็นในทุกวันนี้

ช่วงเวลา 10 วันที่ว่านี้เริ่มต้นขึ้นใน วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1776 และสิ้นสุดในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1777

เหตุการณ์นั้นปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อ George Washinton’ s crossing of the Delaware River หรือ จอร์ช วอชิงตัน ข้ามแม่น้ำ เดลาแวร์

1. แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

นับตั้งแต่อเมริกาเริ่มทำสงครามกับอังกฤษในสงครามประกาศอิสรภาพมาก็ผ่านมาได้ปีกว่าๆ แล้ว

ช่วงแรกของการต่อสู้เหมือนว่าอเมริกันจะได้เปรียบ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1776 เมื่อกองทัพของอังกฤษโดนตีจนต้องหนีออกไปจากเมืองบอสตัน

ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันและกองทัพปฏิวัติรู้สึกฮึกเหิมเป็นที่สุด และเกิดความมั่นใจว่าพวกเขาจะชนะสงครามในครั้งนี้ได้

แต่เมื่อถึงเดือนสิงหาคมของปี ค.ศ. 1776 ผู้นำทัพของอังกฤษชื่อ เซอร์วิลเลียม ฮาว (Sir William Howe) ก็บุกโจมตีเมืองนิวยอร์กและสามารถชนะกองทัพของอเมริกาได้ที่ Brooklyn Heights (Battle of Brooklyn Heights หรือ Battle of Long Island) จอร์จ วอชิงตัน ต้องพาทหารกองทัพปฏิวัติ 9,000 นายหนีไปเรื่อยๆ

ในเดือนตุลาคมก็มีการรบครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง (Battle of Whtie Plains) และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่กองทัพของฝ่ายอเมริกาต้องพ่ายแพ้และถอยหนีลงใต้ไปเรื่อยๆ

ตลอดช่วงฤดูใบไม้ผลิ การรบเป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แพ้แล้วถอย แพ้แล้วถอย ไปเรื่อยๆ กองทัพอังกฤษคอยไล่ตามไล่บี้ไปเรื่อยๆ จากนิวยอร์กลงใต้ไปนิวเจอร์ซีย์ ลงใต้ไปเพนซิลเวเนีย กองทัพอังกฤษเอาชนะและยึดป้อมปราการสำคัญๆ ของอเมริกาได้หลายแห่ง

จนลมหนาวเริ่มเข้ามาเยือน ความหนาวเย็นยิ่งสร้างความหดหู่และสิ้นหวังเพิ่มขึ้น

2. ฤดูหนาวแห่งความสิ้นหวัง

เดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1776

อีกไม่กี่วันก็จะเป็นวันคริสต์มาสแล้ว แต่บรรยากาศในกองทัพของ วอชิงตัน ดูหมองหม่นมากๆ ทหารแต่ละคนนั่งคอตก ไม่พูด ไม่คุย ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ

ปกติสงครามในสมัยก่อนเมื่อถึงฤดูหนาวก็จะหยุดพักรบกัน การหยุดนี้ส่วนใหญ่จะไม่แจ้งกันเป็นทางการ แต่จะหยุดกันไปเองเมื่อคิดว่าสู้กับสภาพอากาศไม่ไหว

เมื่อกองทัพของวอชิงตันถอยร่นมาจนถึงแม่น้ำเดลาแวร์ (Delaware) เขาก็พากองทัพขึ้นเรือข้ามแม่น้ำหนีไปยังรัฐเพนซิลเวเนีย แล้วก็พยายามปิดทางไม่ให้กองทัพอังกฤษตามด้วย ด้วยการนำเรือที่หาได้บริเวณนั้นทั้งหมดข้ามไปด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อทหารอังกฤษตามมาถึงจึงเลือกที่จะพักและปักหลักรอที่นิวเจอร์ซีย์ให้ฤดูหนาวผ่านไปก่อน

ขนาดกองทัพของวอชิงตัน ตอนนี้เหลือเพียงแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของตอนเริ่มต้นเท่านั้น เขาสูญเสียทหารไปมากมายในช่วงหลายเดือนที่ผ่าน ส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากสงคราม บางส่วนถูกจับเป็นเชลย ที่หนีทัพไปก็ไม่น้อย แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม ทหารจำนวนมากก็จะหมดวาระ และสามารถแยกย้ายเดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งก็ไม่เสียหายอะไรเพราะปกติช่วงฤดูหนาวก็ไม่มีการรบกันอยู่แล้ว

แต่คำถามคือ เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึงและเริ่มต้นรบกันอีกครั้ง จะหาทหารจากที่ไหนมาช่วยรบ?

โดยปกติ เมื่อฤดูหนาวกำลังจะผ่านพ้นไป ทหารที่แยกย้ายไป ก็จะสมัครมารบกันอีกครั้ง แต่ในหลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากรบแพ้แล้วต้องถอยหนีไปเรื่อยๆ ทำให้ชื่อเสียงของวอชิงตันเสียหายป่นปี้ จากเดิมที่ผู้คนชื่นชมและเชื่อมั่น บัดนี้ วอชิงตันถูกมองว่าเป็นผู้นำที่ไม่เก่ง และไม่น่าติดตามอีกต่อไป ดังนั้น เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง ใครจะกล้ากลับมาร่วมรบกับวอชิงตันอีก

แม้แต่ตัววอชิงตันเองก็ยอมรับว่าเขารู้สึกเหมือนเกมใกล้จะจบลงแล้ว

ทางฝ่ายอังกฤษก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน

จากจดหมายของนายทหารอังกฤษที่เขียนกลับไปเล่าให้ที่บ้านฟังว่าเล่าว่า กองทัพอเมริกาในขณะนี้เสียขวัญและกำลังใจเป็นอย่างมาก ไม่มีใครเชื่อมั่นในผู้นำ จดหมายบางฉบับเชื่อว่าทุกอย่างจบลงแล้วและเขากำลังจะได้เดินทางกลับบ้าน จดหมายบางฉบับบรรยายว่าพวกทหารอเมริกาขณะนี้ไม่เหลืออะไรที่จะต่อสู้ได้อีกแล้ว พวกเขาไม่มีทั้งรองเท้า ไม่มีผ้าห่ม แม้แต่อาหารก็ยังไม่ค่อยมีกิน

นายทหารของอังกฤษหลายคนเชื่อว่า เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง กองทัพปฏิวัติคงจะสลายตัวไปหมด และไม่น่าจะมีการรบเกิดขึ้นอีก

ถึงขนาดว่า เซอร์ วิลเลียม ฮาว (Sir William Howe) ผู้นำทัพของอังกฤษกล้าที่จะเดินทางไปพักผ่อนที่นิวยอร์กซึ่งสะดวกสบายกว่า ส่วน ลอร์ด ชาล์ส คอร์นวอลลิส (Charles Cornwallis) ผู้ที่นำทัพอังกฤษไล่บี้วอชิงตันมาตลอดก็วางแผนจะกลับไปพักผ่อนที่อังกฤษเช่นกัน

แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป สถานการณ์จะพลิกกลับ

และทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาแค่ 10 วันเท่านั้น

วอชิงตัน ทำได้อย่างไร?

3. Battle of Trenton

แม้ว่าทางฝ่ายอังกฤษจะคิดว่ากองทัพอเมริกาไม่เหลือกำลังพอจะเป็นฝ่ายรุกอีกต่อไปแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาทจึงให้มีการกระจายกำลังเป็นกองร้อยเล็กๆ เรียงตัวตามแนวยาวของแม่น้ำ

กองทัพของอังกฤษนอกเหนือไปจากทหารชาวอังกฤษแล้วยังมีทหารรับจ้างจากเยอรมันมาร่วมรบด้วยประมาณ 30,000 คน ทหารรับจ้างเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า เฮชชัน (Hessian เพราะมาจากเมือง Hesse-Kassel ในเยอรมัน) ซึ่งหนึ่งในกองร้อยของทหารเฮชชัน ที่มาร่วมรบนั้น ถูกวางกำลังไว้ตรงข้ามแม่น้ำกับบริเวณที่วอชิงตันตั้งทัพไว้พอดี

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไมวอชิงตันจึงตัดสินใจทำเช่นนั้น

เขาอาจจะมองว่าไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว และอีกแค่ 5-6 วัน กองทัพปฏิวัติของเขาก็จะสูญสลายไปหมดสิ้น หรือวอชิงตันอาจจะมองว่า สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนั้นคือ การเรียกความเชื่อมั่นให้คืนกลับมา อย่างอื่นยังไม่ต้องไปคิดถึง

ไม่ว่าในใจเขาจะคิดอะไร สุดท้ายวอชิงตันก็ตัดสินใจที่จะลองเสี่ยงเป็นครั้งสุดท้าย

เขาวางแผนที่จะไปพาทหารอเมริกันไปโจมตีกองทหารเฮชชัน ประมาณ 1,400 คนที่ปักหลักอยู่ที่เมืองเทรนตัน (Trenton) รัฐนิวเจอร์ซีย์ในฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ

โดยแบ่งทหารเป็น 3 กอง แยกเดินทางกันไป และเมื่อข้ามน้ำไปได้จะไปรวมตัวกันอีกครั้งที่เมืองเทรนตัน วอชิงตันวางแผนจะออกเดินทางในทันทีที่พระอาทิตย์ตกดินและหวังว่าจะไปถึงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อให้ความมืดช่วยปิดบังการเคลื่อนไหวของกองทัพอเมริกา และสามารถโจมตีโดยไม่ให้กองทัพเฮชชันรู้ตัว

แต่เมื่อถึงเวลาจริงในคืนวันคริสต์มาส การเดินทางก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะระหว่างที่กำลังล่องเรืออยู่กลางแม่น้ำก็มีพายุมา และด้วยฝน หิมะและลมหนาว ทำให้การข้ามแม่น้ำที่เย็นจนเป็นน้ำแข็งเป็นไปอย่างยากลำบาก การเดินทางช้ากว่าที่คิดไว้มาก และสุดท้ายทหาร 3 กองที่เดินทางข้ามแม่น้ำมาด้วย มีเพียงกองร้อยเดียว คือกองร้อยที่นำโดยวอชิงตันและทหารจำนวน 2,400 คนเท่านั้น

จากแผนเดิมที่ตั้งใจว่าจะบุกมา 3 กองร้อยและโจมตีท่ามกลางความสลัวก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเต็มที่ ก็กลายเป็นว่า มาได้แค่กองร้อยเดียวและต้องโจมตีในช่วงเวลาที่สว่างแล้ว

วอชิงตันต้องตัดสินใจว่าจะทำยังไงต่อดี เขาจะทำตามแผนเดิมแล้วบุกไปโจมตีไหม หรือจะล้มเลิกแผนแล้วข้ามแม่น้ำหนีกลับไป

วอชิงตันตัดสินใจที่จะบุก

เขาแยกทหารออกเป็นสองกอง แล้วด้วยความที่หลังพายุสภาพอากาศยังแย่ หมอกที่หนาจึงช่วยบดบังให้ทหารอเมริกันสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองเทรนตันได้โดยที่ทหารทางฝั่งอังกฤษไม่รู้ตัว

แล้วการต่อสู้ก็เริ่มขึ้น

ด้วยความที่ทหารเฮชชัน โดนโจมตีโดยไม่ทันได้ตั้งตัวและมีจำนวนที่น้อยกว่า ทำให้การรบในครั้งนั้น ทางฝ่ายอเมริกัน ชนะไปอย่างท่วมท้น โดยทหารชาวเยอรมันเสียชีวิตบาดเจ็บประมาณ 100 คนและถูกจับเป็นเชลยอีกกว่า 900 คน ส่วนทหารอเมริกันเสียชีวิตไปไม่ถึง 10 คน

หลังจากที่ขโมยยุทโธปกรณ์และเสบียงได้แล้ว กองทัพอเมริกาพร้อมเชลยก็ลงเรือข้ามแม่น้ำ Delaware กลับไป

ไม่นานนักข่าวของชัยชนะครั้งนี้ก็แพร่กระจายไปในฝั่งอเมริกาอย่างรวดเร็ว และกำลังใจก็เริ่มกลับคืนมา

4. Battle of the Assunpink Creek และ Battle of Princeton

หลังชัยชนะเล็กๆ ในเช้าวันที่ 26 ธันวาคม วอชิงตันก็เห็นว่ากระแสกำลังมา จะหยุดแค่นั้นไม่ได้ เขาจึงวางแผนโจมตีอีกครั้งในระดับที่ใหญ่ขึ้น

แต่การโจมตีในครั้งนี้เขาต้องการกำลังทหารที่มากกว่าเดิม จึงดึงทหารจากกองรบอื่นๆ มาสมทบ และพยายามโน้มน้าวทหารที่กำลังจะหมดสัญญาในวันที่ 1 มกราคม ให้อยู่ร่วมรบกันต่อ โดยครั้งนี้พวกเขาจะบุกไปที่เมืองพรินซ์ตัน (Princeton)

หลังจากถูกโจมตีในครั้งนั้น นายพล ฮาว ก็เรียกตัว ลอร์ด คอร์นวอลลิส ให้กลับมาประจำการและยกกองทัพจำนวน 6,000 นายไปแก้แค้นวอชิงตัน

เมื่อกองทัพเดินทางมาถึงเมือง Princeton เขาก็แบ่งทหารอังกฤษประมาณ 1,400 คน ไว้ประจำการที่นั่น และให้ทหารที่เหลือเดินทางมุ่งหน้าไปหากองทัพของวอชิงตัน

หลังจากที่กองทัพของวอชิงตันข้ามแม่น้ำ Delaware มาที่เมือง เทรนตันแล้ว ก็ได้รับข่าวแจ้งว่าทหารอังกฤษกำลังมุ่งหน้ามา เขาจึงตัดสินใจที่จะตรึงกำลังไว้เพื่อต้านการเดินหน้าของคอร์นวอลลิสอยู่ที่บริเวณห้วยแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า แอสซันพิงค์ (Assunpink creek) ที่เมืองเทรตัน

การรบที่ Assenpink creek ทหารอังกฤษพยายามจะบุกไปหลายระลอก แต่ทหารอเมริกาก็สามารถยันต้านไว้ได้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตามการบุกแต่ละครั้งก็ทำให้การตั้งรับของอเมริกาอ่อนแรงลงและต้องถอยร่นไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็เหมือนว่าจะยันต่อไปได้อีกไม่นาน แต่ถึงตอนนั้นก็พลบค่ำพอดี ทำให้การมองเห็นเป็นไปอย่างยากลำบาก

คอร์นวอลลิส จึงปรึกษาเหล่าผู้ช่วยว่าจะบุกต่อไหม หรือจะหยุดพัก

ผู้ช่วยแต่ละคนก็มีความเห็นที่ต่างกัน บางคนแนะนำว่าควรจะบุกต่อเลยไม่เช่นนั้นทหารอเมริกันอาจจะหนีไปได้ แต่บางคนก็มองว่าทหารอเมริกันไม่มีทางที่จะหนีไปได้ การส่งทหารที่เหนื่อยล้าไปในยามค่ำคืน มีความเสี่ยงที่จะโดนซุ่มยิงตายสูง

ส่วนตัวคอร์นวอลลิส ก็อยากจะบุกต่อ แต่เขามองว่ายังไงก็คงชนะอยู่แล้ว รอบุกตอนสว่างอาจจะช่วยให้เสียกำลังทหารน้อยกว่า สุดท้ายเขาจึงพูดว่า ยังไงเราก็ต้อนจิ้งจอกแก่มาจนหนีไปไหนไม่ได้แล้ว เราค่อยไปจับใส่ถุงในตอนเช้าก็ยังได้ แล้วตัดสินใจที่จะพักการบุกไว้ก่อน

ทางฝ่ายวอชิงตันเองก็รู้ว่าคงจะยันกองทัพอังกฤษต่อไปได้อีกไม่นาน จึงเกิดกังวลว่าเมื่อถอยหนีถึงจุดหนึ่ง กองทัพของเขาจะโดนไล่ไปจนหลังชนแม่น้ำและไม่สามารถถอยหนีต่อไปได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เขาก็คงต้องยอมแพ้ให้กับกองทัพอังกฤษ

เขาจึงวางแผนโดยใช้ความมืดให้เป็นประโยชน์อีกครั้ง

วอชิงตันตัดสินใจให้ทหารส่วนใหญ่แอบหนีออกไปในตอนกลางคืน โดยเสี่ยงที่จะเดินทางอ้อมไปด้านหลังของกองทัพอังกฤษแล้วไปโจมตีเมือง Princeton

ทหารส่วนน้อยที่ยังอยู่ในค่ายก็หลอกโดยการจุดไฟไว้ที่ค่าย แล้วให้ทำเสียงเหมือนลากกิ่งไม้และขุดดิน เพื่อให้ทางอังกฤษคิดว่า อเมริกามีแผนจะขุดกำบังแล้วปักหลักสู้อยู่ตรงนั้น

เช้าวันที่ 3 มกราคม กองทัพของวอชิงตันก็เดินทางไปถึงเมือง Princeton และด้วยกำลังพลที่มากกว่าก็สามารถชนะทหารอังกฤษได้อย่างง่ายด้วย

ชัยชนะในครั้งนี้จึงเป็นการชนะครั้งที่ 3 ในรอบ 10 วันที่ผ่านมา

5. Aftermath

หลังการพ่ายแพ้ 3 ครั้งติดกัน นายพล ฮาว ก็ตัดสินใจสั่งถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากนิวเจอร์ซีย์ แล้วกลับไปตั้งหลักที่นิวยอร์ก เพื่อรอให้ฤดูหนาวผ่านพ้นไปแล้วค่อยว่ากันใหม่

การพ่ายแพ้ 3 ครั้งนี้เป็นการพ่ายแพ้ที่เล็กน้อยมากๆ สำหรับกองทัพอังกฤษ คือ แทบไม่ได้ใส่ใจเลยก็ว่าได้

แต่ชัยชนะเล็กๆ เหล่านี้มีผลต่อกำลังใจของฝ่ายอเมริกาเป็นอย่างมากแม้ว่าการรบจะดำเนินต่อไปอีกหลายปีกว่าอเมริกาจะเอาชนะกองทัพของอังกฤษได้ แต่หลังชัยชนะติดๆ กันใน 10 วันนั้น ชาวอเมริกันและกองทัพอเมริกาก็ไม่เคยลังเลสงสัยอีกเลยว่า การประกาศอิสรภาพเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่

เหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า

บางครั้งในช่วงเวลาที่อับจนหนทางที่สุด สิ่งที่เราต้องการอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

แต่เป็นแค่บางสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เรามีกำลังใจจะสู้ต่อ

การข้ามแม่น้ำ Delaware ไปเก็บชัยชนะเล็กๆ ของวอชิงตันครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน

เป็นชัยชนะที่สามารถเรียกความมั่นใจในตัววอชิงตันให้คืนกลับมา

เป็นชัยชนะที่ทำให้กองทัพอเมริกายังไม่สูญสลายไปเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง

เป็นชัยชนะที่ทำให้ชาวอเมริกันยังมีกำลังใจจะสู้รบต่อ

ถ้าคืนนั้นวอชิงตันยอมแพ้และไม่เลือกที่จะข้ามแม่น้ำ Delaware

วันนี้ก็จะไม่มีประเทศ สหรัฐอเมริกา