ความลับที่ซ่อนอยู่ใน “ตาขาว” ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้
(บทความนี้ย่อและเรียบเรียงใหม่จากหนังสือ 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 2)
………………………………………………………………..
1.
เคยสังเกตไหมครับว่าตาของมนุษย์เราแปลกกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ หลายอย่างด้วยกัน
อย่างแรกสุดคือรูปร่าง ตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปจะมีลักษณะกลมๆเหมือนเม็ดกระดุม แต่ตาของเราจะมีรูปร่างรีๆเหมือนเม็ดแปะก๊วยวางนอนอยู่
อย่างที่สองคือ สัตว์อื่นๆเราไม่ค่อยเห็นตาขาวของมัน เพราะส่วนที่เป็นตาขาวมักจะเป็นสีอื่น และส่วนใหญ่จะเป็นสีเข้ม
จากผลทั้งสองข้อนี้ ทำให้ตาดำของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ จะดูไม่เด่นมาก ซึ่งต่างไปจากตาดำของมนุษย์
ฟังดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือไม่น่าสนใจสักเท่าไหร่ใช่ไหมครับ ?
แต่ความจริงแล้ว การที่มนุษย์เรามีตาขาวเช่นนี้ มันมีความลับที่น่าสนใจซ่อนอยู่
เรามาเริ่มกันที่คำถามเล็กๆว่า ตาขาวของมนุษย์ทำหน้าที่อะไร ? แล้วทำไมสัตว์อื่นจึงไม่มีตาขาว ?��
2.
ขอเริ่มที่ คำถามว่า ทำไมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นไม่มีตาขาวกันก่อนนะครับ เพราะเป็นคำตอบที่เข้าใจได้ง่ายกว่า
ในธรรมชาติส่วนใหญ่ ไม่ว่าคุณจะเป็นสัตว์ผู้ล่า หรือเหยื่อที่จะถูกล่า การพรางตัวเป็นเรื่องสำคัญ ลองนึกภาพดูนะครับถ้าสัตว์ไปซ่อนตัวหลังพุ่มไม้และจ้องออกมาเพื่อดูสถานการณ์คุณคงไม่อยากให้ใครมองเห็นตาคุณได้ง่ายๆ
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีตาขาว แต่ส่วนที่เป็นตาขาวส่วนใหญ่จะมีสีเข้ม แล้วยิ่งบวกกับการที่ตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่มีรูปร่างกลม ทำให้มองเห็นส่วนที่เป็นตาขาวได้น้อยลง
ซึ่งลักษณะตาแบบนี้จะมีประโยชน์ในแง่ของการพรางตัว
แต่มนุษย์เราแปลกเพราะนอกจากตาขาวของเราจะขาวมากแล้ว ตาของมนุษย์ยังมีรูปร่างเป็นวงรี ทำให้ส่วนของตาขาวถูกเห็นได้ง่ายขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นสองคนชื่อ Hiromi Kobayashi และ Shiro Kohshima สนใจความแปลกนี้ และอยากรู้ว่าในลิงสายพันธุ์อื่นๆ มีลิงไหนที่เห็นตาขาวชัดแบบมนุษย์เราบ้าง พวกเขาจึงศึกษาตาของลิงกว่า 90 สปีชีส์ และพบว่ามนุษย์เป็นลิงสายพันธุ์เดียวที่มีตาขาวที่เห็นได้ชัด
ลิงอื่นนอกจากจะไม่เห็นส่วนที่เป็นตาขาวแล้ว ด้วยความที่สีของใบหน้ามีสีเข้ม ยิ่งทำให้ตาดำมองเห็นได้ยากจนเหมือนจะถูกกลืนหายไปบนใบหน้าเสียด้วยซ้ำ
แต่ตาของมนุษย์ มีตาดำรูปร่างกลมตั้งอยู่บนตาขาวที่มีรูปร่างรี สีที่ตัดกันนี้ทำให้ตาเรามองเห็นได้ชัดต่างไปจากลิงอื่นๆ
ความแปลกอีกข้อที่พวกเขาพบคือ ขนาดของตามนุษย์ยังมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดร่างกาย ทำให้ตาของมนุษย์ถูกเห็นได้ง่ายมาก
สัตว์อื่นวิวัฒนาการมาเพื่อหลบซ่อนดวงตาแต่เรากลับวิวัฒนาการมามีตาที่เห็นได้เด่นชัด
คำถามคือทำไมเราจึงวิวัฒนาการมามีตาที่เห็นได้ชัดเช่นนี้?
2.
หลายท่านอาจจะไม่เคยสังเกตมาก่อน แต่การที่เรามีตาขาวนั้น มันทำให้เราสามารถบอกได้จากระยะที่ไกลมากว่า คนๆหนึ่งกำลังมองอะไร
แม้ว่าเขาจะทำเป็นหันหน้ามองไปทางอื่นแต่ถ้าตาเขาจ้องมาที่คุณ แล้วคุณหันไปสบตาเขา คุณจะบอกได้ทันทีว่า คนๆนั้นกำลังจ้องคุณอยู่
Hiromi Kobayashi และ Shiro Kohshima เชื่อว่า การที่มนุษย์สามารถบอกได้ว่าคนอื่นกำลังจ้องอะไรอยู่ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นเพราะมนุษย์วิวัฒนาการมาเพื่อใช้ตาในการสื่อสารระหว่างกัน
Michael Tomasello นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ทำงานวิจัยอยู่ที่ ไลป์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมัน สนใจทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นคู่นี้ เขาจึงนำไปศึกษาต่อยอด
เขาตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์เรามีสัญชาตญานที่จะชอบจ้องตากัน
ตั้งแต่มนุษย์ยังเป็นทารก ก็จะชอบมองหน้าและจ้องตากับแม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้พบในลิงอื่นได้น้อย
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเด็กทารกคนไหนไม่ชอบจ้องตาแม่หรือคนอื่น อาจจะเป็นสัญญานเริ่มแรกของการป่วยเป็นโรคออทิซึม (autism) ได้
ลักษณะเช่นนี้บ่งให้เห็นว่าพฤติกรรมชอบจ้องตาของมนุษย์ คงจะมีกลไกบางอย่างในสมองควบคุมอยู่ ถ้ากลไกนี้เสียหายไปความต้องการจะจ้องตาก็จะเสียไปด้วย
โธมาเซลโล จึงเชื่อว่า การชอบจ้องตากันเป็นสัญชาตญานที่สำคัญของมนุษย์ซึ่งวิวัฒนาการฝังมาในสมองเพื่อทำหน้าที่บางอย่าง
และการมีตาขาวทำให้การจ้องตาและรู้ว่าคนนั้นกำลังมองอะไรอยู่เป็นไปได้ง่ายขึ้น
จากนั้น โธมาเซลโล ก็ออกแบบการทดลองเพื่อที่จะทดสอบสมมติฐานว่า มนุษย์ใช้การจ้องตาเพื่อที่จะสื่อสารว่าอีกคนกำลังสนใจดูอะไรอยู่
สิ่งที่เขาทำคือนำทารกอายุประมาณหนึ่งขวบจำนวนหนึ่งมาทดลองเทียบกับลูกลิงชิมแปนซี อุรังอุตัง โบโนโบ และกอริลล่า
วิธีการคือ นำลูกลิงทั้งหลายมานั่งจ้องนักวิจัยทำสิ่งต่อไปนี้ แล้วดูว่าลูกลิงจะตอบสนองอย่างไร
สิ่งที่นักวิจัยทำมี 6 ขั้นตอนด้วยกันคือ��หนึ่ง นักวิจัยนั่ง “หันหน้า” ไปหาลูกลิง หลับตาแล้วเงยหน้ามองเพดาน
สอง นักวิจัยนั่ง “หันหน้า” ไปหาลูกลิง เหลือบตาขึ้นมองเพดานโดยไม่เงยหน้า
สาม นักวิจัยนั่ง “หันหน้า” ไปหาลูกลิง เงยหน้าจ้องไปที่เพดาน
สี่ นักวิจัยนั่ง “หันหน้า” ไปหาลูกลิง แล้วจ้องมองไปที่ลูกลิงตรงๆ
ห้า นักวิจัยนั่ง “หันหลัง” ให้ลูกลิง แล้วเงยหน้ามองเพดาน
หก นักวิจัยนั่ง “หันหลัง” ให้ลูกลิง แล้วมองตรงไปข้างหน้า
สิ่งที่พบคือ ลูกลิงต่างๆ จะให้ความสำคัญกับทิศทางของใบหน้าว่ามองไปทางไหนแล้วลูกลิงก็จะมองตาม โดยไม่สนใจเลยว่า ตาจะมองไปทางไหน เช่น ถ้านักวิจัยเหลือบตามองข้างบนโดยไม่เงยหน้า ลูกลิงก็จะไม่มองด้านบนตาม
ในทางตรงกันข้าม ทารกจะให้ความสำคัญกับทิศทางของตาเป็นหลักว่ามองไปทางไหนเว้นแต่จะมองไม่เห็นดวงตา เช่น นักวิจัยนั่งหันหลัง จึงจะมองตามทิศทางของใบหน้า
จะเห็นว่า ทารกสามารถมองตามสายตาคนอื่นโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน ซึ่งบอกเป็นนัยๆว่า มนุษย์เรามีสัญชาตญานที่จะสื่อสารระหว่างกันด้วยการมองตา เราอยากรู้ว่าคนอื่นมองอะไรอยู่ เราอยากรู้ว่าคนอื่นสนใจอะไร และเรายังชวนคนอื่นให้สนใจสิ่งเดียวกันด้วยการมองไปทางนั้นโดยไม่ต้องบอกหรือสื่อสารด้วยเสียง
คำถามคือ การสื่อสารกันด้วยการมองตานั้น มันมีข้อดีหรือข้อเสียต่างจากวิธีการที่ลิงอื่นใช้อย่างไร ? การมองทิศทางของตามันต่างไปจากการมองทิศทางของใบหน้าอย่างไร ?
คำตอบเข้าใจได้ไม่ยากครับ
ถ้ามีโอกาสนั่งคุยกับใครตรงๆ แบบเห็นหน้า ลองมองตรงไปที่หน้าเขาแต่แกล้งเพ่งสายตาให้เลยไปที่ด้านหลังของเขาดูนะครับ คือ ทำเหมือนกับว่าคุณมองอะไรที่อยู่ไกลออกไปทางด้านหลังของศรีษะเขา
สักพักเขาจะดูออกว่าคุณไม่ได้มองเขาอยู่ แล้วเขาอาจจะหันไปมองตามว่าคุณกำลังดูอะไรอยู่
จะเห็นว่าการมองตานั้นมันให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดมากกว่าการมองทิศของใบหน้า หรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
3.
โดยสรุปทั้งหมด จะเห็นว่า การที่มนุษย์วิวัฒนาการมามีตาขาวเห็นชัด มันสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์เป็นลิงสายพันธุ์ที่พึ่งการทำงานร่วมกันเป็นอย่างมาก
ลองจินตนาการมนุษย์ยุคหินที่ต้องล่าสัตว์ร่วมกันนะครับ
ขณะที่มนุษย์คนหนึ่งกำลังหลอกล่อดึงความสนใจจากเหยื่อด้วยการเขย่ากิ่งไม้ อีกคนกำลังถือหอกเตรียมโจมตีจากด้านหลัง อีกคนกำลังลอบเข้าด้านข้างเตรียมจะทุ่มก้อนหินใส่เหยื่อ
การล่าแบบนี้จะเป็นการล่าที่ต้องใช้การทำงานร่วมกันแบบทีมเวริก์ การที่เราสามารถสื่อสารกันได้ด้วยสายตา ทำให้มนุษย์สามารถที่จะสื่อสารบางอย่างได้ภายในเวลาแค่เสี้ยววินาทีโดยที่ไม่ต้องส่งเสียง (ที่จะทำให้เหยื่อรู้ตัว)
�การล่าของมนุษย์แบบนี้จึงเป็นการล่าเพื่อความสำเร็จของพวกเรา ไม่ใช่ความสำเร็จของใคนคนใดคนหนึ่ง
ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าลิงอื่นจะมีพฤติกรรมของการล่าสัตว์ร่วมกัน แต่รูปแบบการล่าร่วมกันจะเป็นในลักษณะของการล่าเพื่อตัวฉันเอง คือชิมแปนซีแต่ละตัวจะพยายามอ่านสถาการณ์ว่า จังหวะนั้นทำแบบไหนจึงจะดีที่สุดสำหรับฉัน
การล่าในชิมแปนซีจะไม่มีลักษณะของทีมเวิรก์ ระหว่างล่าจะมีการสื่อสารระหว่างกันน้อยมาก คือ จะเหมือนเด็กอนุบาลวิ่งไล่รุมเตะลูกบอกกันแบบไม่มีทีมเวิรก์ ซึ่งต่างไปจากมนุษย์ที่มีการแบ่งหน้าที่กัน ยืนคนละตำแหน่งเพื่อเป้าหมายเดียวกัน
โดยสรุปทั้งหมด คำตอบจึงเป็นว่า
การที่เราวิวัฒนาการมามีตารูปรีนั้น ทำให้ตาขาวถูกเห็นได้ชัดขึ้น
เมื่อตาขาวเห็นได้ชัด ก็ทำให้ตาดำเด่นขึ้นมา
ตาดำที่เด่นทำให้คนอื่นมองเห็นได้ง่ายว่าเรากำลังมองอะไรอยู่ หรือพยายามจะสื่อสารอะไร
เห็นไหมครับ แค่ส่วนเล็กๆของร่างกายมนุษย์อย่างตาขาว ก็มีความลับที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากมาย
ถ้าสนใจอยากจะเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์มากกว่านี้ แนะนำอ่านหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย และ 500 ล้านปีของความรัก เพิ่มเติมครับ สามารถซื้อออนไลน์ได้ที่
https://bit.ly/3olaIAL