เมื่อถึงวันพ่อทีไร เชื่อว่าลูกวัยทำงานหลายคนอาจจะกำลังคิดว่าจะทำอะไรให้เป็นของขวัญวันพ่อดี
หลายคนอาจจะเลือกร้านอาหารแปลก ๆใหม่ๆ
บางคนพยายามหาวิธีเซอร์ไพรส์พ่อด้วยการพาไปเที่ยวที่แปลกๆ
แต่เชื่อว่าจะมีหลายคนที่รู้สึกผิดหวังเพราะพ่อกับแม่มักจะไม่ได้รู้สึกสนุกหรือตื่นเต้นเหมือนที่เราคิด
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
คำตอบมันอยู่ที่การเข้าใจว่า ….
สมองของคนสูงอายุ ทำงานต่างไปจากสมองของคนอายุน้อยเล็กน้อยครับ
………………………………………………………………..
1.
เราทุกคนรู้กันดีว่าร่างกายผู้ชายและผู้หญิงนั้นต่างกัน เช่น
ผู้ชายมีแนวโน้มจะสูงกว่า ตัวใหญ่กว่า กล้ามเยอะกว่า
ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะนมใหญ่กว่า สะโพกผายกว่า ผิวเนียนกว่า เป็นต้น
แต่ความต่างนี้ ไม่ได้จำกัดแค่ร่างกายตั้งแค่คอลงไปเท่านั้น แต่สมองของผู้ชาย ผู้หญิงและเพศตรงกลางอื่นๆก็มีความแตกต่างกันด้วย
และความต่างนี้ก็มีผลให้เพศต่างๆ มีความคิด อารมณ์ การรับรู้อารมณ์คนอื่น การรับรู้กลิ่น การเห็นสี ที่ต่างกันไปบ้าง (ต่างกันไม่มากนัก แต่ก็มีส่วนที่ต่าง)
สมองของคนสูงอายุก็เช่นกัน คือมีบางอย่างที่ต่างไปจากคนวัยหนุ่มสาว
………………………………………………………………..
2.
โดยทั่วไปเมื่อเราพูดถึงสมองของคนสูงอายุ เรามักจะนึกถึงคำว่า “เสื่อมลง” หรือ “ถดถอย” คือ เราคิดว่า สมองของคนสูงอายุจะด้อยลงจากที่เคยเป็น ทำให้คนสูงอายุ คิดได้ช้าลง จำได้น้อยลง ปรับตัวได้ยากขึ้น
แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปครับ จริงอยู่ว่าสมองของคนที่อายุมากขึ้น มีแนวโน้มจะทำงานหลายๆอย่างได้ลดลง
แต่ก็มีบางอย่างที่สมองของคนสูงอายุทำงานได้ดีกว่าตอนเป็นวัยหนุ่มสาว (แล้วมีคนสูงอายุบางคนสมองแทบไม่เปลี่ยนไปจากตอนหนุ่มสาวเลย เรียกว่า super-ager )
ดังนั้นเราอาจจะต้องพูดว่า สมองของคนสูงอายุ “ต่างไป” จากคนหนุ่มสาว เพราะแม้ว่าหลายอย่างจะด้อยลง แต่บางอย่างก็ดีขึ้น
ปกติสมองของคนอายุน้อยจะทำงานได้เร็วกว่า คิดหรือเข้าใจตรรกะต่างๆได้เร็วกว่า ฟังเรื่องใหม่ๆยากๆแล้วเก็ทได้เร็วกว่า
สมองของคนสูงอายุแม้ว่าจะไม่เฉียบคมเท่า แต่คนสูงอายุจะเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกันได้ดีกว่า
ผลของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้คนสูงอายุมองภาพใหญ่ได้ดีกว่า มองเห็นแบบแผนต่างๆที่ซ่อนอยู่ได้ดีกว่า
ถ้าจะเทียบเป็นภาพก็อาจจะบอกได้ว่า ถ้าให้วิ่งแข่งกัน สมองคนหนุ่มสาวจะออกตัวเร็ว วิ่งได้เร็ว คล่องแคล่วกว่า แต่สมองของคนสูงอายุจะไปช้าๆ มองภาพจากมุมกว้าง แล้วค้นพบทางลัดที่ซ่อนอยู่ ทำให้ไปถึงจุดหมายได้เร็วโดยไม่ต้องใช้วิธีการเดียวกับคนหนุ่มสาว
หรือ อาจจะพูดว่า คนหนุ่มสาว มองปัญหาหนึ่งแล้วเห็นต้นไม้จำนวนมากที่หลากหลายซับซ้อน แต่คนสูงอายุมองปัญหาเดียวกัน แล้วเห็นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง
สมองของคนสูงอายุ ยังสามารถอ่านอารมณ์ เข้าใจอารมณ์
และเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ดีกว่า
ดังนั้นเราจึงเห็นว่าในองค์กรที่มีแต่คนอายุน้อยๆ ฉลาดๆ ไฟแรงๆ ก็มีความเสี่ยงของการกระทบกระทั่ง แตกแยกได้สูงกว่า
ในทางตรงกันข้ามองค์กรที่มีคนสูงอายุอยู่บ้าง แม้ว่าคนสูงอายุจะไม่เฉียบคมเหมือนเดิม แต่มีความสามารถในการเข้าอกเข้าใจคนอื่น ซึ่งจะช่วยเชื่อมหรือประสานรอยร้าวของคนหนุ่มสาวที่ไฟแรง ให้สามารถทำงานไปด้วยกันได้อย่างงราบรื่นได้มากขึ้น
สมองของคนสูงอายุที่เปลี่ยนไป ยังมีผลให้มองโลกเปลียนไป คือ จะมองเห็นด้านบวก เห็นโลกในแง่ดีมากขึ้น ละเลยหรือสนใจด้านลบน้อยลง สมองคนสูงอายุยังเลือกจำแต่สิ่งดีๆมากขึ้น ทำให้อารมณ์ทางลบเกิดขึ้นน้อยลง
ในแง่นี้ก็อาจจะเรียกได้ว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะแม้ว่าจะทำให้คนสูงอายุมีแนวโน้มจะมีความสุขมากขึ้น แต่ในแง่การทำงาน เช่น ในองค์กรที่มีผู้บริหารสูงอายุมากๆ ก็อาจจะทำให้มองไม่เห็นหรือไม่ได้วางแผนเผื่อสำหรับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
………………………………………………………………..
3.
ในแง่ของความสุขนั้น คนสูงวัยก็มีมุมมองของความสุขที่ต่างไปจากคนหนุ่มสาว คือ
คนหนุ่มสาว มักจะมีความสุขเมื่อได้พบประสบการณ์ชีวิตแบบใหม่ๆ เช่น เดินทางไปในที่ใหม่ๆ ได้ไปต่างประเทศ ได้ลองกินอาหารใหม่ๆ ได้สิ่งของใหม่ๆ เจอคนใหม่ๆ
แต่เมื่ออายุมากขึ้น สมองจะมองหาความสุขกับสิ่งธรรมดาๆที่สมองคุ้นเคย
หรือพูดง่ายๆคือ คนสูงอายุสามารถมีความสุขกับสิ่งที่เห็นเป็นปกติในชีวิตประจำวันทั่วไปได้ง่าย (ขณะที่คนหนุ่มสาวอาจจะมองว่าน่าเบื่อ) เช่น การไปนั่งในสวนที่คุ้นเคย การได้ไปกินข้าวในร้านอาหารที่เคยกินตอนหนุ่มสาว การได้ทำอาหารให้ลูกหลานกินในบ้านตัวเอง
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะสมองของคนหนุ่มสาวยังไม่มีความทรงจำ ประสบการณ์หรือเรื่องราวดีๆ ใหม่ๆ สะสมไว้มากเพียงพอที่จะเรียกมาใช้กับสิ่งที่จำเจเหล่านั้น
แต่คนสูงอายุ มีแนวโน้มที่จะมีความทรงจำดีๆ เก่าๆ มากมายให้นึกถึงกับสถานที่หรือชีวิตประจำวันที่ธรรมดาๆ
สวนที่เคยนั่งประจำอาจจะเป็นที่ซึ่งเคยพาลูกมาหัดเดิน
ร้านอาหารธรรมดาเป็นร้านที่เคยมาประจำสมัยยังยากจนเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวกับคู่ชีวิต
………………………………………………………………..
4.
ถึงตรงนี้ผมก็อยากจะขอแทรกประสบการณ์ตัวเองเรื่องนึงสมัยที่ผมเพิ่งจะจบหมอใหม่ๆ
มีคุณยายท่านหนึ่งลูกสะใภ้พามาตรวจที่โรงพยาบาล
หลังการตรวจเสร็จสิ้นก่อนที่จะคุณยายและลูกสะใภ้จะออกจากห้องตรวจ ลูกสะใภ้ก็หันมาพูดกับผมว่า
คุณหมอ ช่วยเตือนคุณแม่ให้หน่อยสิคะ คุณแม่ชอบแอบขึ้นรถไปซื้อขนมที่ตลาดคนเดียวตลอดเลย ลูกหลานห้ามก็ไม่ฟัง คุณแม่เดินก็ไม่แข็งแรง หูก็ได้ยินไม่ชัด กลัวว่าจะเป็นอันตราย หนูบอกว่าจะไปซื้อให้ก็ไม่ยอม เผลอทีไรก็ออกไปเอง
ก่อนที่ผมจะพูดอะไร คุณยายก็หันมาพูดว่า
ยายแก่แล้ว ปวดนู่นนี่ไปหมด ร่างกายมันไม่ได้สุขสบายอะไร
อยู่นานไปมันก็ไม่ได้มีความสุขอะไร
ความสุขของชีวิตก็คือการได้ดูแลลูกหลาน
ขนมที่ไปซื้อ ก็ซื้อมาให้หลาน เหมือนที่เคยทำให้พ่อหลานกินตอนเด็กๆ
ฟังแล้วเราก็เข้าใจทั้งคุณยายและลูกสะใภ้ ใช่ไหมครับ?
ตัวลูกสะใภ้เองก็กลัวจะโดนญาติพี่น้องต่อว่า ไม่ยอมดูแล ปล่อยให้คุณแม่ต้องลำบากไปซื้อขนมเอง
แต่ตัวคุณยายเองกลับมองต่างไป ตอนลูกยังเด็กเคยทำขนมให้ลูกกิน
ทุกวันนี้ทำไม่ไหวแล้ว ที่พอจะทำได้ก็คือการออกไปซื้อขนมให้หลานกิน
ฝากคนอื่นซื้อให้มันก็ไม่เหมือนกับการไปเดินทางไปเลือกซื้อมาด้วยตัวเอง
กิจกรรมเล็กน้อยที่สุดแสนจะธรรมดาในสายตาลูกหลานนี้
แต่สำหรับคุณยายแล้วมันคือความสุขของแต่ละวัน
เหตุการณ์เล็กๆนี้ บางครั้งมันก็ช่วยเตือนใจเราเหมือนกันใช่ไหมครับ
หลายครั้ง เราลงทุนลงแรงพยายามที่จะทำอะไรที่มันพิเศษมากๆให้กับญาติผู้ใหญ่
เราลำบากเก็บเงินเพื่อพาไปเที่ยวต่างประเทศ หรืออดมื้อเย็นเป็นเดือนเพื่อพาพ่อแม่ไปกินอาหารแพงๆหรูๆในวันพิเศษ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประสบการณ์แปลกๆใหม่ๆเหล่านั้น อาจไม่ได้มีผลต่อความสุขที่เพิ่มขึ้นมากนัก
ยิ่งถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ เราเองเสียอีกที่อาจจะผิดหวังว่า อุตสาห์พยายามตั้งมากมาย แต่ทำไมท่านกลับไม่ตื่นเต้นหรือสนุกกับมันเลย
เพราะแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สำคัญจริงๆสำหรับคนสูงอายุ
อาจเป็นแค่ได้ใช้เวลาร่วมกันทั้งครอบครัวเพื่อทำสิ่งธรรมดาๆทั่วไปเท่านั้นเอง …
………………………………………………………………..
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
อยากเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาและสมองมากขึ้น
แนะนำให้อ่านเล่ม 500 ล้านปีของความรัก
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ลิงก์ข้างล่างเลยนะคะ