Chatchapolbook.com

คุณรู้หรือไม่ว่า มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้?

blank
การศึกษาวิจัยแบบวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบว่าโรคมะเร็งเกิดจากอะไร เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว
จนในปีค.ศ. 1912 จิ๊กซอว์ตัวแรกก็ถูกค้นพบโดยหมอ เพย์ตัน รูส (Peyton Rous)
เขาพบว่ามะเร็งอาจจะเกิดจากเชื้อโรค เพราะเขาสามารถทำให้โรคมะเร็งติดต่อจากไก่ตัวหนึ่งไปที่ไก่อีกตัวได้
เขาไม่รู้ว่าอะไรทำให้มะเร็งติดต่อได้ แต่เขาเดาว่าน่าจะเป็นไวรัส
ในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์คนอื่นก็พบว่าสิ่งที่ทำให้มะเร็งในไก่ติดต่อได้ คือ ไวรัสจริง ๆ
การค้นพบนี้ทำให้ หมอรูสในวัย 71 ปีได้รับรางวัลโนเบลในปี 1966 หรือ 55 ปีหลังการค้นพบ
ทำไมต้องรอนานขนาดนั้น ?
คำตอบ คือ เพราะใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเห็นว่าสิ่งที่เขาพบ มีผลต่อมนุษยชาติมากแค่ไหน
การค้นพบของเขาถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่จะนำไปสู่การประดิษฐ์วัคซีนที่สามารภป้องกันโรคมะเร็ง
blank
หลังการค้นพบของหมอรูส ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก พยายามสานงานต่อ โดยพยายามศึกษาว่า 
ไวรัสจะทำให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ได้หรือไม่
ประมาณช่วงปลายของทศวรรษ 1960 มีการค้นพบว่าไวรัสที่ชื่อ HSV2 “อาจจะ” ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้
ในปีคศ. 1964 หมอชื่อ เอปสไตน์ (Epstein) ก็พบไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ ต่อมาไวรัสตัวนี้ก็ถูกตั้งชื่อว่า Epstein-Barr virus หรือย่อว่า EBV

ทำให้สมมติฐานที่ว่าไวรัสสามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ 
เป็นที่สนใจมากขึ้น และเกิดความหวังว่า ถ้าเราสามารถป้องกัน
การติดเชื้อได้ เราก็จะสามารถป้องกันโรคมะเร็งชนิดนั้นได้ !!
blank
ประมาณปีค.ศ. 1972 เริ่มมีการค้นพบว่า ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ไม่ใช่ไวรัส HSV2 แต่เป็นไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Human Papilloma virus หรือนิยมเรียกชื่อย่อว่า HPV
จนอีกประมาณสิบปีต่อมานักวิทยาศาสตร์ชายเยอรมันชื่อฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ( Harald zur Hausen )  ก็สามารถยืนยันได้ว่าไวรัส HPV สามารถทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 
โดยเขาพบว่าไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้
และการค้นพบเหล่านี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในปีค.ศ. 2008
blank
หลังจากนั้นก็มีการพบ HPV สายพันธุ์อื่น ๆ  ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น
จนในปี 1999 ก็สรุปออกมาว่า มากกว่า 90% ของโรคมะเร็งปากมดลูกเกี่ยวข้องกับไวรัส HPV ไม่สายพันธุ์ใดก็สายพันธุ์หนึ่ง
ข้อมูลนี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะอะไรรู้ไหมครับ ?
เพราะมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยมาก
คือ เป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม  
ประมาณคร่าว ๆ ใน 1 วันเมืองไทยมีผู้ป่วยโรคนี้เกิดขึ้นใหม่ 24 คน
มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยวันละ 14 คน โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้หญิงวัยทำงาน คือ 30-60 ปี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของ
ครอบครัว (ต่างจากมะเร็งส่วนใหญ่ที่เกิดในผู้สูงอายุ)และไม่ใช่แค่นั้น ...
blank
เพราะต่อมายังพบว่าไวรัส HPV ยังเกี่ยวข้องกับมะเร็งของช่องคลอด มะเร็งของอวัยวะเพศชาย มะเร็งในช่องปากและลำคอ และมะเร็งของทวารหนัก หรือ พูดง่าย ๆ ว่า อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ (ทางช่องคลอด ทวารหนักหรือออรัลเซ็กส์) 
สามารถเกิดเป็นมะเร็งได้ถ้าติดเชื้อไวรัสตัวนี้และเมื่อมะเร็งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับไวรัส ถ้าเรามีวัคซีนป้องกันไวรัสเราก็สามารถป้อง
กันการเกิดมะเร็งเหล่านี้ได้แล้วความพยายามเพื่อหาวัคซีนสำหรับเชื้อ HPV จึงเริ่มต้นขึ้น ...
blank
หลังจากพยายามอยู่ประมาณ 7 ปีในที่สุดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ก็ถูกผลิตขึ้นในปี 1990 โดยนักวิทยาศาสตร์สองคนคือ ศาสตราจารย์เอียน เฟสเซอร์ (Ian Frazer) และเจียน โจว (Jian Zhou)

โดยวัคซีนที่ผลิตขึ้นนั้น ไม่ได้มีตัวไวรัสจริงอยู่ แต่เป็นการสร้างสารที่มีหน้าตาเหมือนโปรตีนบนเปลือกไวรัสขึ้นมาใหม่ 

เมื่อวัคซีนไม่ใช่ตัวไวรัสจริง วัคซีนจึงปลอดภัยและมั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งขึ้นมา

และวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่สูงมาก ๆ  คือ เกือบร้อยเปอร์เซนต์

ในปี 2006 วัคซีนจึงได้รับการอนุมัติโดย FDA ของอเมริกาให้ใช้ฉีดเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9 ถึง 26 ปี ก่อนที่ในเวลาต่อมาเมื่อข้อมูลมากขึ้น จะขยายอายุของผู้หญิงที่ควรฉีดวัคซีนขึ้นไปถึง 45 ปี

อีกประมาณ 3 ปีต่อมา คือเมื่อข้อมูลมากขึ้น 
วัคซีนก็ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ชาย

คำถามคือ ผู้ชายไม่มีปากมดลูกแล้วจะได้ประโยชน์อะไร จากวัคซีน ?
blank
ไวรัส HPV เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายมากๆ ผ่านการสัมผัส
โดยคนส่วนใหญ่ที่มีเชื้อนี้จะไม่มีอาการอะไรเลย จึงไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีไวรัสตัวนี้อยู่

แต่ถึงไม่มีอาการอะไรเลย ก็สามารถนำไวรัสติดต่อไปสู่คนอื่นได้ 
ผ่านการมีเพศสัมพันธ์

ถุงยางอนามัยมีประโยชน์มากสำหรับป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แต่ไม่เพียงพอที่สำหรับป้องกันการติดเชื้อ HPV เพราะ ถุงยางไม่ได้ยาวครอบไปถึงบริเวณทวารหนัก และช่องปาก

ดังนั้นผู้ชายที่มีเชื้ออยู่จึงสามารถติดต่อไปให้คนอื่นได้
แต่การฉีดวัคซีนในผู้ชายไม่ได้มีประโยชน์แค่ป้องกัน
การแพร่เชื้อให้คนรัก
แต่ยังช่วยป้องกันตัวเองได้ด้วยเพราะเชื้อ HPV ยังเกี่ยวข้องกับมะเร็งของอวัยวะเพศชาย มะเร็งในช่องปากและช่องคอด้วย
หลังจากนั้น จึงมีการเปลี่ยนชื่อเรียกวัคซีนนี้ จากวัคซีนมะเร็งปากมดลูก เป็นวัคซีน HPV ในปัจจุบัน
blank
สรุป ใครควรจะได้รับวัคซีนนี้บ้าง

คำตอบกว้าง ๆ คือ คนที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคน 
จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค HPV

โดยคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือ เด็กที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แต่ใกล้ถึงวัยที่จะมีเพศสัมพันธ์

และด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลก  รัฐบาลจึงจัดให้มีการฉีดวัคซีน HPV ในเด็กก่อนวัยรุ่นฟรี (9-11 ขวบ) เพราะการป้องกันโรคมะเร็งด้วยวัคซีนมีราคาถูกกว่าการรักษามาก และภูมิที่เกิดขึ้นยังป้องกันโรคได้นาน ข้อมูลล่าสุดพบว่าคนที่ได้รับวัคซีนนานกว่า 
10 ปีไปแล้วระดับภูมิคุ้มกันแทบจะไม่ลดลงเลย

ดังนั้น หลายประเทศก็หวังว่าวัคซีนนี้จะทำให้ประชาชนในเจเนเรชั่นต่อๆไป พบมะเร็งปากมดลูกน้อยลงหรือแทบจะไม่พบเลย

สำหรับคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือแม้แต่คนที่เคยติดเชื้อ HPV มาก่อน พบว่าการฉีดวัคซีนก็ยังมีประโยชน์ เพราะวัคซีนจะช่วยป้องกัน HPV สายพันธ์เสี่ยงอื่นๆ ที่เรายังไม่เคยติด และป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้

หรืออาจจะพูดง่ายๆได้ว่า ในผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 45 ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรทั้งชาย หญิงและเพศอื่นๆ ยิ่งได้รับวัคซีนป้องกัน HPV เร็วเท่าไหร่ ยิ่งดี เพราะจะได้รับประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็งสูงสุดก่อนที่ร่างกายจะติดเชื้อ