Chatchapolbook.com

จุดจบของหมอเซมเมลไวส์ ประวัติศาสตร์ของการล้างมือ ตอนที่ 2/2

จุดจบของหมอเซมเมลไวส์
ประวัติศาสตร์ของการล้างมือ ตอนที่ 2/2

**************

หมายเหตุ ย่อและเรียบเรียงขึ้นใหม่ จากหนังสือสงครามที่ไม่มีวันชนะ ที่ผมเขียนไว้ในปี พ.ศ. 2561 ครับ
ต้องการอ่านในรูปแบบของ Blockdit คลิกที่ลิงก์
https://www.blockdit.com/articles/5e4374c2ab42f20c932b084c

**************
1.
แม้ว่าหมอเซมเมลไวส์สามารถลดอัตราการตายในหอผู้ป่วยที่ 1 ได้สำเร็จ
แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะโน้มน้าวให้หมอล้างมือได้สำเร็จ

แรกเริ่มทีเดียวหมอเซมเมลไส์ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานหลายคน อย่างน้อย ๆ หมออาวุโสที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการแพทย์ของเวียนนาถึง 3 คนก็ให้การสนับสนุนเขา

หมอ 3 ท่านนี้คือ หมอคาร์ล ฟอน รอคิแทนสกี (Karl von Rokitansky) หมอโจเซฟ สโกดา (Joseph Skoda) หมอแฟร์ดินานด์ ริตเตอร์ ฟอน เฮบรา(Ferdinand Ritter von Hebra)

แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างที่เราไม่รู้แน่ชัด หมอเซมเมลไวส์ไม่ยอมเขียนรายละเอียดการค้นพบของเขาออกมาเป็นเรื่องเป็นราว

เขาไม่ยอมตีพิมพ์ผลงานวิจัยอย่างที่ทำกันทั่วไปในวงการแพทย์

กระนั้นก็ตามหมอทั้งสามที่เป็นแนวร่วมก็ช่วยกันสรุปงานวิจัยของเซมเมลไวส์ออกมาแล้วนำไปตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ต่าง ๆ ทำให้วิธีการล้างมือของเซมเมลไวส์เริ่มเป็นที่สนใจกันมากขึ้นในยุโรป มีคนสนใจและหันมาปฏิบัติตามจำนวนไม่น้อย

แน่นอนครับ เมื่อมีทฤษฎีใหม่ดังขึ้นมา ก็ย่อมต้องมีคนที่ไม่เชื่อเข้ามาค้านและจับผิด ซึ่งเป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกวงการ

กรณีนี้ก็เช่นกัน หมอจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ ในงานวิจัยของหมอเซมเมลไวส์
แต่จุดอ่อนที่ใหญ่สุดซึ่งหมอเซมเมลไวส์ไม่สามารถตอบคนอื่นได้คือ

ล้างมือด้วยคลอรีนไปเพื่ออะไร? ต้องการจะล้างอะไรออกไป?

ในโลกที่ยังไม่มีใครรู้จักคำว่า “เชื้อโรค” ในวันที่วงการแพทย์ยังไม่รู้จักแบคทีเรียหรือไวรัส และเชื่อว่าโรคเกิดจากสมดุลของเหลวในร่างกายหรืออากาศพิษ การล้างมือเพื่อป้องกันโรคจึงเป็นความคิดที่ประหลาดและไม่ตั้งอยู่บนทฤษฎีใดๆเลย

อย่างไรก็ตาม ก็มีหมอจำนวนไม่น้อยที่เชื่อหมอเซมเมลไวส์ จนเกิดเป็นการถกเถียงทางวิชาการขึ้นอย่างกว้างขวางระหว่างที่คนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับหมอเซมเมลไวส์
เมื่อการโต้เถียงระหว่างสองฝ่ายที่เชื่อต่างกันมาถึงจุดแตกหัก ก็มีการนำหัวข้อนี้ไปโต้เถียงกันในที่ประชุมสมาคมแพทย์ของเวียนนา ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1850

ผลของการโต้เถียงในครั้งนั้นหมอเซมเมลไว์ไม่สามารถตอบคำถามของฝ่ายค้านในหลายๆข้อได้ ซึ่งถ้าเป็นหมอคนอื่นก็คงจะกลับมาทำงานวิจัย เก็บรวบรวมหลักฐานให้มากขึ้นเพื่อปิดรูรั่วหรือจุดอ่อนของทฤษฎี แล้วโต้เถียงใหม่

แต่หมอเซมเมลไวส์ เลือกที่จะมองว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เป็นศตรู โง่และกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นฆาตรกร

2.

นอกเหนือไปจากเหตุผลหลักทางวิชาการนี้แล้ว เชื่อว่าน่าจะมีปัจจัยทางสังคมอื่น ๆ อีกหลายปัจจัยที่ทำให้วิธีการใหม่ของหมอเซมเมลไวส์ถูกต่อต้านอย่างหนัก

ปัจจัยแรกเป็นเรื่องของเชื้อชาติ ในยุคนั้นสำหรับชาวเวียนนายังมีความรู้สึกว่าเชื้อชาติฮังการี (หรือ Magyar ซึ่งถูกมองว่าเป็นคนเถื่อนเร่ร่อนมาก่อน) เป็นเชื้อชาติที่ต่ำชั้นกว่าชาวเวียนนา (ชนเผ่าเยอรมัน) ทำให้หมอชาวเวียนนาที่ยังถือตัวไม่อยากยอมรับแนวคิดของหมอเซมเมลไวส์

ปัจจัยที่ 2 น่าจะเป็นเหตุผลทางจิตวิทยา โดยปกติแค่จะให้หมอยอมรับทฤษฎีใหม่ ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว นี่ต้องยอมรับทฤษฎีใหม่ที่บอกว่า หมอฆ่าคนไข้ไปมากมายด้วยมือของหมอเอง เป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับได้ยากมาก

ยิ่งในยุคที่ยุโรปยังมีระบบศักดินา มีความเป็นชนชั้นสูง อาชีพแพทย์ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติและเป็นชนชั้นสูงของสังคม การมาบอกว่าความสกปรกของหมอเป็นสาเหตุเป็นเรื่องที่หมอส่วนใหญ่เปิดใจรับได้ยาก

ปัจจัยที่ 3 ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือความแปลกของหมอเซมเมลไวส์เองครับ
อย่างที่เล่าให้ฟังก่อนหน้าว่า หมอเซมเมลไวส์ไม่ยอมเขียนงานวิจัยหรือโต้แย้งด้วยเหตุผลเหมือนที่คนอื่นทำ จริงอยู่ว่าแรก ๆ เขาก็พยายามโต้เถียงอย่างที่ควรจะเป็น แต่เมื่อมีคนชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีเขามีจุดอ่อน

แทนที่เขาจะกลับไปทำงานวิจัยใหม่หรือเก็บข้อมูลเพื่อลบล้างจุดอ่อนนั้นแล้วค่อย ๆ โน้มน้าวหมออื่น ๆ ด้วยหลักฐาน เขากลับเลือกที่จะโต้แย้งด้วยความก้าวร้าว เขาใช้วิธีการบังคับให้คนเปลี่ยนแปลง เขาด่าคนที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นคนโง่ มองว่าคนที่คิดไม่เหมือนตัวเองเป็นศัตรู เป็นคนเลว เป็นฆาตรกร

และเมื่อความไม่เห็นด้วยทางวิชาการ กลายเป็นความเกลียดชังส่วนตัวและการโจมตีตัวตน การจะโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อและคล้อยตามความคิด
จึงเป็นไปได้ยาก

ปัจจัยที่ 4 มาจากหัวหน้าของหมอเซมเมลไวส์โดยตรง อย่างที่คุยกันไปในตอนก่อนหน้าว่า เมื่อหมอโยฮันน์ ไคลน์ มารับงานเป็นหัวหน้าแผนก เขาก็มาพร้อมกับนโยบายให้มีการผ่าศพเพื่อเรียนรู้จากผู้ป่วยที่เสียชีวิตให้มากขึ้น

ถ้าการผ่าศพทำให้แม่ตายจริงก็เท่ากับว่านโยบายของหมอไคลน์ทำให้แม่ตายมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ลึก ๆ แล้วเขาคงไม่อยากให้ทฤษฎีของหมอเซมเมลไวส์เป็นเรื่องจริง

หมอไคลน์จึงเป็นหัวหอกคนหนึ่งที่โต้เถียงกับหมอเซมเมลไวส์ในเรื่องนี้มาโดยตลอด
สุดท้ายในเดือนมีนาคม ค.ศ.1849 หมอไคลน์ก็ปฏิเสธที่จะต่อสัญญาจ้างหมอเซมเมลไวส์ ไม่นานหลังจากนั้นหมอเซมเมลไวส์ก็โดนปลดออกจากตำแหน่ง รวมเวลาเบ็ดเสร็จก็ประมาณ 3 ปีหลังจากที่เขาแนะนำให้หมอและนักเรียนแพทย์ล้างมือ หมอเซมเมลไวส์ก็กลายเป็นหมอตกงาน

หมอเซมเมลไวส์หนีหายไปจากเวียนนาเงียบๆโดยไม่บอกให้ใครรู้ แล้วกลับไปยังบ้านเกิดในประเทศฮังการี

2.
หมอเซมเมลไวส์ไปทำงานเป็นหมอทำคลอดที่โรงพยาบาลเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง

เขายังคงนำการล้างมือไปใช้และช่วยให้อัตราการตายจากไข้หลังคลอดน้อยลงกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ดีมากสำหรับโรงพยาบาลเล็ก ๆ ในยุคนั้น

อย่างไรก็ตามเขาก็ยังไม่ยอมตีพิมพ์ผลงาน เขาปล่อยให้ตัวเองหายไปจากวงการวิชาการ จนคนค่อยๆลืมชื่อของเขาไป

จนในที่สุด หลังจากเวลาผ่านไป 8 ปี

หมอเซมเมลไวส์ก็ตัดสินใจที่จะนำ การล้างมือ กลับมาเล่าให้โลกได้รับรู้อีกครั้งด้วยการเขียนเป็นหนังสือออกมา

แต่หนังสือที่เขาเขียนออกมาไม่ใช่หนังสือวิชาการที่ใชัเหตุผลในการโต้แย้งและโน้มน้าวให้คนคล้อยตาม

เนื้อหาในหนังสือกลับเต็มไปด้วยความเคียดแค้น ด่าทอ และโจมตีกลุ่มคนที่ไม่เคยเห็นด้วย เขาหาว่าศาสตราจารย์ทั้งหลายที่มหาวิทยาลัยเวียนนาว่าเป็น ฆาตรกรเลือดเย็นที่สังหารหมู่แม่และทารกนับพัน

นับจากจุดนั้นมา ชีวิตของหมอเซมเมลไวส์ก็ดำดิ่งลงเรื่อย ๆ

ในช่วงแรกเขาโทษคนอื่น ต่อมาเขาก็เริ่มโทษตัวเองที่ไม่สามารถช่วยชีวิตแม่ที่มาคลอดลูกได้ เขาเริ่มเขียนจดหมายไปด่าและสาปแช่งหมอเป็นรายบุคคล เขามีอาการของคนที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ วันดีคืนดีก็คลุ้มคลั่ง โกรธแค้นขึ้นมาอย่างรุนแรง

เขาเริ่มมีพฤติกรรมที่ไม่ปกติ บางครั้งออกเดินไปตามถนนเหมือนว่ามีธุระสำคัญจะต้องไปทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะไปไหน

เขามีอารมณ์ทางเพศมากขึ้นอย่างผิดสังเกต เริ่มที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงขายบริการอย่างเปิดเผย เขาใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย พูดคนเดียว บางครั้งก็โต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนกับภาพหลอน จนสุดท้ายภรรยาของเขาก็ทนไม่ได้อีกต่อไป

3.
ในวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1865

ภรรยาของหมอเซมเมลไวส์ก็ชวนเขาเดินทางด้วยรถไฟเพื่อไปรักษาตัวที่สปาแห่งหนึ่ง
เมื่อรถไฟเข้าเทียบชานชาลาที่เมืองเวียนนา หมอเฮบราที่เคยสนับสนุนและช่วยผลักดันให้หมอล้างมือก่อนตรวจคนไข้ร่วมกับหมอเซมเมลไวส์เมื่อ 18 ปีก่อนหน้าก็มายืนโบกมือรอรับอยู่ที่ชานชาลา

หลังจากทักทายกันเล็กน้อยหมอเฮบราก็ชวนให้หมอเซมเมลไวส์แวะพักที่เวียนนา และชวนไปเยี่ยมชมสถานบำบัดแห่งใหม่ที่เขาดูแลอยู่

แต่สถานที่ซึ่งหมอเฮบราพาหมอเซมเมลไวส์ไปนั้นไม่ใช่สถานบำบัด

การเดินทางมาเวียนนาของเซมเมลไวส์ในครั้งนั้นก็ไม่ได้เป็นการเดินทางไปสปา แต่เป็นแผนการที่ภรรยาและหมอเฮบราร่วมมือกันเพื่อหลอกให้เขายอมเข้าบำบัดในสถานกักกันคนโรคจิต (ในยุคนั้นหมอยังไม่รู้วิธีรักษาโรคทางจิต สถานบำบัดจึงทำหน้าที่ที่เหมือนที่ขังคนป่วยโรคจิตไว้รวมกันมากกว่าจะเป็นสถานบำบัด)

4.
สองสัปดาห์ผ่านไป

ครอบครัวของหมอเซมเมลไวส์ก็ได้รับแจ้งว่าหมอเซมเมลไวส์เสียชีวิต และร่างกายของเขาถูกส่งไปที่โรงพยาบาล Vienna General Hospital ซึ่งเป็นที่ทำงานเก่าของเขา เพื่อรอการผ่าศพศึกษาหาสาเหตุการตาย

บนเตียงผ่าศพแห่งนั้น เตียงผ่าศพที่หมอเซมเมลไวส์เคยผ่าศพอื่นมานับร้อยนับพัน บัดนี้ก็กลายมาเป็นเตียงที่ศพของเขากำลังนอนอยู่

สภาพศพของเขาจากภายนอกมีลักษณะเหมือนโดนคนทำร้าย เขามีบาดแผลที่มือซ้าย มีร่องรอยบาดเจ็บที่นิ้วมือขวา มีรอยช้ำอยู่บนหน้าอกซ้ายที่ดูคล้ายโดนกระทืบอย่างแรงขณะกำลังนอนราบอยู่ที่พื้น

เมื่อหมอชันสูตรผ่าเปิดศพออกดู ก็พบว่ากระดูกซี่โครงของหมอเซมเมลไวส์หักหลายซี่ซึ่งน่าจะเกิดจากการโดนกระทืบ

เมื่อเปิดช่องอกและช่องท้องของเขาออก ภาพเดียวกับที่หมอเซมเมลไวส์เคยเห็นเมื่อเขาผ่าศพคนไข้คนอื่นก็ปรากฎขึ้น อวัยวะภายในของเขาหลายแห่งเต็มไปด้วยหนอง
สิ่งที่ฆ่าหมอเซมเมลไวส์ไม่ใช่อะไรอื่น เขาเสียชีวิตด้วยโรคที่เขาพยายามต่อสู้มาเกือบทั้งชีวิตของการเป็นแพทย์

เขาเสียชีวิตด้วยภาวะเดียวกับที่แม่หลังคลอดนับพันนับหมื่นเสียชีวิตไปก่อนหน้า
หมอเซมเมลไวส์ เสียชีวิตด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ศพของเซมเมลไวส์ถูกฝังที่เวียนนา มีผู้มาร่วมงานศพเพียงไม่กี่คน ไม่กี่ปีผ่านไปชื่อของหมออิกนาซ เซมเมลไวส์และผลงานของเขาก็ถูกลืมไปจากประวัติศาสตร์

5.
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หมอเซมเมลไวส์ ไม่รับรู้เลยว่า ไม่ไกลออกไปมากนัก
ในประเทศฝรั่งเศสหลุยส์ ปาสเตอร์กำลังศึกษาหนอนไหมเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าจุลินทรีย์สามารถทำให้เกิดโรคได้
ในประเทศอังกฤษหมอโจเซฟ ลิสเตอร์ กำลังหาวิธีผ่าตัดที่ปลอดภัยมากขึ้นด้วยการฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อนการผ่าตัด
ในประเทศเยอรมันโรเบิรต์ คอค กำลังหาทางพิสูจน์ให้เห็นว่าแบคทีเรียก่อนโรคในคนได้

ถ้าหมอเซมเมลไวส์มีชีวิตยืนยาวกว่านี้อีกประมาณสักสิบกว่าปี เขาจะได้เห็นว่าโลกกำลังเริ่มยอมรับว่า สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามารถทำให้ป่วยได้

เขาจะได้เห็นการกำเนิดและเติบโตของทฤษฎีเชื้อโรค

แล้วเมื่อคนยอมรับ เชื้อโรค ทำให้มนุษย์ป่วยได้
คนก็จะเข้าใจและยอมรับว่า
ทำไมการล้างมือให้สะอาด จึงสามารถป้องกันโรคติดเชื้อได้

***************