ทำไมอเมริกาทำสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ตอนที่ 2/2
1. แล้วสงครามก็เริ่มต้นขึ้น
วันที่ 10 พ.ค. 1775
ชาวอังกฤษในทวีปอเมริกาจากรัฐต่างๆ ก็ส่งตัวแทนไปประชุมร่วมกันอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง (Second Continental Congress) โดยครั้งนี้หัวข้อที่คุยคือ
จะเตรียมทำสงครามกับอังกฤษยังไง?
อย่างไรก็ตาม การประชุมนี้ไม่ได้แปลว่าชาวอเมริกันอยากจะรบกับอังกฤษอย่างเต็มที่ เพราะในการประชุมก็ยังมีหารือ และร่างประกาศที่มีชื่อว่า Olive Branch Petition เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า จริงๆ แล้วชาวอังกฤษในอเมริกายังจงรักภักดีต่อกษัตริย์อังกฤษอยู่เช่นเดิม และอธิบายว่าด้วยเหตุผลอะไรพวกเขาจึงต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้ แล้วก็หวังว่า พระเจ้าจอร์ชแห่งอังกฤษจะเข้าใจและช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อเลี่ยงสงคราม
การประชุมในครั้งนั้น ทางอเมริกันสรุปว่าจะให้มีการจัดตั้งกองทัพร่วมระหว่างรัฐขึ้นมา และให้อดีตทหารของกองทัพอังกฤษนายหนึ่งที่มีชื่อว่า จอร์ช วอชิงตัน เป็นผู้นำของกองทัพ
2. อเมริกาพ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในช่วงแรกของสงครามแม้ว่าทางฝ่ายอเมริกันจะพยายามรบแบบกองโจรเพราะไม่สามารถสู้ซึ่งๆ หน้าได้ แต่ก็ยังพ่ายแพ้โดนตีไล่มาโดยตลอด คือ ต้องสู้ไปถอยร่นหนีไปเรื่อยๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะสงครามในครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างกองทัพที่ถือได้ว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลก กับ กองทัพที่ทหารส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาที่มีอดีตทหารอังกฤษจำนวนไม่มากนักเป็นผู้นำ
และแม้ว่าการต่อสู้จะเริ่มต้นไปแล้ว แต่ทางอเมริกาก็ยังพยายามเจรจาต่อรองกับกษัตริย์และรัฐบาลอังกฤษเป็นระยะเพื่อหวังจะหาทางออก แต่ทางอังกฤษก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้ การต่อสู้จึงดำเนินไปเรื่อยๆ
แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนในอเมริกาต้องการจะสู้กับอังกฤษนะครับ มีชาวอเมริกันจำนวนมากที่ยังจงรักภักดีต่อกษัตริย์ของอังกฤษคือเป็นพวก Royalist ส่วนกลุ่มที่ต้องการปฏิวัติก็มีชื่อเรียกว่า Revolutionist โดยคนทั้งสองกลุ่มนี้สามารถพบกระจายอยู่ทั่วไปทั้ง 13 รัฐ หลายครั้งภายในครอบครัวเดียวกันก็มีความเห็นต่างกัน และสนับสนุนคนละฝ่าย จนทำให้เกิดความแตกแยกภายในครอบครัวก็มี
เช่นเดียวกันที่รัฐสภาของอังกฤษก็มีการโต้เถียงกันว่าควรจะทำสงครามกับอเมริกาหรือไม่ ตัวอย่างเช่น เอดมันด์ เบิรก์ (Edmund Burke คนที่ถือได้ว่าเป็นบิดาของนักอนุรักษนิยมยุคใหม่) บอกว่าสงครามนี้เป็นสงครามที่ไร้ประโยชน์ สิ้นเปลือง และเป็นการต่อสู้กับเพื่อนร่วมชาติที่ต้องการจะปกป้องเสรีภาพในฐานะของประชาชนชาวอังกฤษเท่านั้น
จุดสำคัญที่น่าสังเกตคือ ประเด็นความขัดแย้งที่คุยกันในช่วงนี้ของสงคราม แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับภาษีซึ่งเป็นประเด็นที่จุดประกายสงคราม แต่ยังโต้แย้งหรือขัดแย้งกันทางความคิด ในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพระหว่างประชาชนและรัฐบาล ทำให้การปฏิวัติในช่วงเวลานี้มีลักษณะของการเป็น Enlightenment Revolution เพราะแนวคิดที่เป็นข้อขัดแย้งของสงคราม เป็นแนวคิดที่เกิดมาจากยุคเรืองปัญญา หรือ Enlightenment
ในช่วงแรกของสงคราม กองทัพและประชาชนของอเมริกาจำนวนมากไม่ได้ต่อสู้ในฐานะของชาวอเมริกันแต่พวกเขาต่อสู้ในฐานะของประชาชนชาวอังกฤษที่ทำสงครามกับรัฐบาลและกษัตริย์ของตัวเองที่พวกเขามองว่ากดขี่ประชาชน แต่การต่อสู้ที่ยืดยาวออกไปทำให้ความรู้สึกของความเป็นชาวอเมริกันที่มีศัตรูร่วมกันค่อยๆ ก่อตัวขึ้น
จนในที่สุด วันที่ 7 มิย. 1776 ตัวแทนจากรัฐต่างๆ จึงตัดสินใจร่วมกันว่า มาถึงจุดนี้แล้ว ความเป็นชาวอังกฤษจบสิ้นลงแล้ว ทั้ง 13 รัฐจากนี้ไปจะเป็นรัฐอิสระโดยไม่ขึ้นต่อประเทศอังกฤษอีกต่อไป และทั้ง 13 รัฐจะรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐแห่งทวีปอเมริกา หรือ The United States of America
จากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการนำโดย โธมัน เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) และ จอห์น อดัมส์ (John Adams) ร่างเอกสารประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการขึ้นมา
อีกประมาณ 20 วันถัดมาคือในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 เหล่าตัวแทนจากรัฐต่างๆ ก็มาร่วมลงนามในประกาศเอกราชฉบับนั้น ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ The Declaration of Independence และนั่นก็คือจุดกำเนิดของประเทศอเมริกาและชาวอเมริกันที่ไม่ใช่ประชาชนของกษัตริย์อังกฤษอีกต่อไป
3.
คำถามที่คนอเมริกันส่วนใหญ่แอบสงสัยไม่ได้คือ ประเทศอเมริกาของพวกเขาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่นี้ จะมีอายุนานสักเท่าไหร่กัน? เพราะถ้าการรบยังแพ้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ประเทศอเมริกาคงจะมีอายุได้ไม่ถึงปี
หนึ่งในทางรอดที่อาจเป็นไปได้คือ ถ้าฝรั่งเศสซึ่งเป็นมหาอำนาจหนึ่งของยุโรป ยอมส่งกองทัพเข้ามาช่วยเหลือ ความเป็นไปได้ที่จะชนะอังกฤษก็คงมากขึ้น
แล้วโอกาสที่ฝรั่งเศสจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือก็พอมี เพราะใครๆ ก็รู้ว่า ฝรั่งเศสยังแค้นใจและหาโอกาสแก้แค้นอังกฤษต่อความพ่ายแพ้ในสงคราม French and Indian war อยู่
แต่ถ้ามองในมุมของฝรั่งเศส กษัตริย์ฝรั่งเศสเองก็คงไม่อยากส่งกองทัพมาถ้าไม่มั่นใจว่าจะสามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้น ก็จะยิ่งเสียหน้ามากขึ้นไปอีก
ดังนั้นในสถานการณ์ที่อเมริกาเอาแต่แพ้ต้องถอยหนีไปเรื่อยๆ เช่นนี้ จะไปขอใครให้มาช่วยเหลือก็คงไม่มีใครอยากช่วยเหลือ
แล้วอย่าว่าแต่ประเทศอื่นอยากยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเลย แม้แต่ทหารอเมริกันก็หนีทัพมากขึ้นเรื่อยๆ ทหารใหม่ที่อยากสมัครเข้าร่วมรบก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะมองว่า เข้ามาช่วยรบก็สู้กองทัพอังกฤษไม่ไหวอยู่ดี
ยิ่งใกล้วันสิ้นปีก็ยิ่งดูเหมือนว่า กองทัพอเมริกาและสหรัฐอเมริกาคงจะสิ้นสุดลงภายในปีนั้น
แต่แล้วก็มีสองเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม
จุดเปลี่ยนสำคัญแรกเกิดขึ้นในคืนวันคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1776
เหตุการณ์นั้นปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อว่า วอชิงตันข้ามแม่น้ำเดลาแวร์ (Delaware) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ วอชิงตันพาทหารไปลอบโจมตีทหารรับจ้างชาวเยอรมันของกองทัพอังกฤษ และได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด
ชัยชนะครั้งนั้น ทำให้กองทัพอเมริกาที่ใกล้จะถอดใจ ก็เกิดมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมา ทหารหนีทัพลดน้อยลงแล้วยังมีคนมาสมัครเข้าร่วมกับกองทัพเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
(เหตุการณ์นี้ เคยเขียนไปแล้ว จะนำมาโพสต์ให้ใหม่ในวันพรุ่งนี้ครับ)
จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ กองทัพของอเมริกาสามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษในการรบที่ ซาราโทกา (Saratoga) รัฐนิวยอร์กได้
ชัยชนะที่ซาราโทกามีส่วนสำคัญมาก ที่ช่วยให้ เบนจามิน แฟรงคลิน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศอเมริกา สามารถเดินทางไปโน้มน้าวให้ฝรั่งเศสส่งกองทัพมาช่วยอเมริการบได้สำเร็จ
เมื่อฝรั่งเศสตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ ทั้งในด้านกำลังทรัพย์ อาวุธยุทโธปกรณ์ และยังส่งทหารอาชีพที่ชำนาญการรบมาช่วย ก็ทำให้กองทัพอเมริกาซึ่งได้เปรียบในแง่ความชำนาญภูมิประเทศสามารถพลิกสถานการณ์มาเป็นฝ่ายรุกไล่กองทัพอังกฤษ
ต่อมากษัตริย์สเปนซึ่งเป็นพระญาติกับราชวงศ์ของฝรั่งเศสก็เห็นโอกาสที่จะรุมอังกฤษจึงเข้าร่วมกับอเมริกาและฝรั่งเศส ส่วนดัชต์ซึ่งเป็นศัตรูของจักรวรรดิอังกฤษอยู่แล้วก็ตามเข้ามาร่วมด้วย ทำให้กลายเป็น 4 รุม 1
สุดท้ายกองทัพของอังกฤษต้องขอเจรจาสงบศึกและยอมแพ้ไปในปี ค.ศ. 1783
4.
คำถามที่น่าสนใจคือ สงครามครั้งนี้มีผลกระทบต่อ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกาอย่างไรบ้าง?
เริ่มจากทางอเมริกากันก่อน
หลังจากที่อเมริกาชนะสงครามและเป็นอิสระจากประเทศอังกฤษ อเมริกาก็กลายเป็นจุดสนใจของหลายๆ ประเทศในยุโรป โดยเฉพาะในหมู่ของ นักคิดนักปรัชญายุคเรืองปัญญาทั้งหลาย เพราะอเมริกากลายเป็นประเทศก่อตั้งใหม่ โดยก่อตั้งขึ้นมาจากประชาชนที่ประกาศอิสรภาพจากกษัตริย์ของตัวเอง
รัฐบาลที่ตั้งขึ้นก็ไม่ได้มาจากกษัตริย์ แต่เป็นสถาบันที่มาจากประชาชน โดยที่มีสัญญากันไว้ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินของประชาชน (ต่างจากยุโรปที่มองว่ารัฐบาลทำงานรับใช้กษัตริย์)
มีการเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์ชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า อำนาจปกครองของรัฐ ไม่ได้มาจากพระเจ้า (สู่กษัตริย์) ไม่ได้มาจากขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ทำต่อๆ กันมาก แต่มาจาก “We the People”
รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นใหม่ก็เขียนขึ้นโดยสามัญชนโดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้อง ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของนักปรัชญา จอห์น ล็อค (John Locke) ของอังกฤษ
รัฐบาลยังจัดตั้งขึ้นภายใต้คำสัญญาว่าจะทำตามเป้าหมายนั้น ถ้าทำไม่ได้ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกอำนาจคืน ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคิด social contract ของจอห์น ล็อคและ รุสโซ
อำนาจของรัฐยังถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่อิสระต่อกัน โดยนำปรัชญาการปกครองของ มองเตสกิเยอ (Montesquieu) มาใช้เพื่อให้เกิดของสมดุลของอำนาจทั้งสาม
รัฐธรรมนูญที่เขียนยังมีการนำปรัชญาของ วอลแตร์ มาใช้ เช่น ในส่วนสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นสิ่งที่รัฐจะมาละเมิดไม่ได้ ซึ่งเสรีภาพนี้ครอบคลุมไปถึง เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา โดยรัฐบาลกลางของอเมริกาจะไม่มีศาสนาประจำชาติ ไม่มีสถาบันศาสนาที่เป็นของรัฐ
ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญและตั้งรัฐบาลแม้ว่าจะเป็นเรื่องภายในของอเมริกา แต่ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญของยุโรป เพราะไอเดียหรือปรัชญาการปกครองทั้งหลาย มีที่มาจากนักคิดชาวยุโรป ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยถูกทดลองนำมาใช้โดยประชาชนอย่างจริงจัง ชาวยุโรปจำนวนมากจึงสนใจที่จะอยากรู้ว่า แนวคิดการปกครองใหม่ๆ เหล่านี้ จะใช้ได้ผลจริงๆ ไหม ประเทศอเมริกาจะไปรอดหรือไม่
คำตอบเราก็คงจะรู้กันดีอยู่แล้ว
คราวนี้มาดูทางฝั่งอังกฤษผู้แพ้สงครามกับบ้าง
5.
ความพ่ายแพ้ในช่วงแรกมีผลกระเทือนต่ออำนาจและชื่อเสียงของอังกฤษมาก เพราะในยุคนั้นอังกฤษเป็นถึงมหาอำนาจเบอร์หนึ่ง แต่กลับมาพ่ายแพ้ให้กับกองทัพชาวไร่ชาวนาที่เพิ่งก่อตั้งประเทศ
หลังจากเสียอเมริกาไป อังกฤษก็สูญเสียทั้งแหล่งทรัพยากร ลูกค้าที่จะรับซื้อสินค้าจากอังกฤษ ทำให้การส่งออกของอังกฤษชะลอลง การเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวลง
แต่ก็เป็นแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น
หลังสงครามสิ้นสุดลง อเมริกาก็พิจารณาว่าระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ใครจะเป็นพันธมิตรที่แท้จริง
สุดท้ายชาวอเมริกันมองว่าในระยะยาวพันธมิตรที่แท้จริงคงจะไม่ใช่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีความแตกต่างกันในหลายด้าน และเหตุผลที่ฝรั่งเศสมาร่วมรบเพราะต้องการจะแก้แค้น ไม่ได้คิดจะมาเป็นเพื่อนกับอเมริกาอย่างจริงจัง
ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากันมาอย่างดีโดยตลอดคือประเทศอังกฤษ ดังนั้นการกลับมาค้าขายกันได้เหมือนเดิมยิ่งเร็วก็จะยิ่งดี
เมื่อต่างฝ่ายเห็นตรงกันว่าความขัดแย้งมีผลเสียมากกว่าผลดี เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก ความโกรธเกลียดกันของแต่ละฝ่ายลดลง อเมริกาและอังกฤษก็กลับมาทำการค้าระหว่างกันใหม่อีกครั้ง
และดูเหมือนว่าการค้าที่เจริญรุ่งเรืองนี้จะมีผลดีต่ออังกฤษมากกว่าสมัยที่อังกฤษมีอเมริกาเป็นอาณานิคมเสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อการค้าเป็นไปด้วยดี อังกฤษก็ได้ประโยชน์จากการส่งออก สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบจากอเมริกามาใช้โดยไม่ต้องไปลงทุนจัดการด้วยตัวเอง แล้วยังไม่ต้องไปเสียเงินเสียกำลังคนปกป้องสมบัติในอเมริกาจากฝรั่งเศส สเปนหรือชนพื้นเมือง
ในแง่ทางการเมือง อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าครับว่า ที่อังกฤษเองไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการทำสงครามกับอเมริกา โดยนักการเมืองฝ่ายที่เป็นอนุรักษนิยมหรือที่มีชื่อเรียกว่า Tories ส่วนใหญ่ต้องการจะทำสงคราม ส่วนนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมหรือที่มีชื่อเรียกว่า Whigs ส่วนใหญ่ไม่ต้องการทำสงคราม
ดังนั้นเมื่ออังกฤษแพ้สงคราม รัฐบาลซึ่งขณะนั้นฝ่ายอนุรักษนิยมจึงโดนฝ่ายเสรีนิยมโจมตีอย่างหนัก จนรัฐบาลอนุรักษนิยมต้องลาออกทั้งรัฐบาล และนำไปสู่การปฏิรูปการบริหารงานของรัฐบาลอังกฤษ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น lean มากขึ้น ประหยัดขึ้น แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยสรุปจะเห็นว่า แม้อังกฤษจะแพ้สงคราม แต่อังกฤษเองก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากนัก
คราวนี้มาดูฝรั่งเศสชนะสงครามกันบ้าง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศสกลับตรงข้ามกับอังกฤษ เพราะแม้ว่าฝรั่งเศสจะได้แก้แค้นอังกฤษสมใจแต่สงครามกลับทำให้ เงินท้องพระคลังของฝรั่งเศสหมดจนถึงขั้นกลายเป็นหนี้ที่ไม่สามารถจะจ่ายคืนได้ไหว
และเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของฝรั่งเศสนี้ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเราจะหาโอกาสคุยกันต่อไปนะครั