Chatchapolbook.com

มีความสุขมากขึ้น ด้วยหลักจิตวิทยาเล็กๆง่ายๆ ( Peak-end Rule )

😊 มีความสุขมากขึ้น ด้วยหลักจิตวิทยาเล็กๆง่ายๆ ( Peak-end Rule ) เคยมีประสบการณ์แบบนี้กันบ้างไหมครับ? คุณวางแผนพิเศษบางอย่างไว้ สำหรับคนที่คุณรัก ในวันพิเศษ อาจจะเป็นการกินข้าว ในวันเกิดของลูก พาพ่อแม่ไปกินข้าวในวันเกิดของคุณ แต่มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ทุกอย่างที่วางแผนไว้พังลง เช่น รถติดทำให้ไปไม่ทันจนโต๊ะที่จองไว้โดนยกเลิก จองโต๊ะไว้แต่กลับไม่ได้โต๊ะที่อยากได้ ต้องไปนั่งเบียดกันที่โต๊ะเล็กๆ หน้าห้องน้ำ โต๊ะข้างๆเสียงดังมากจนน่ารำคาญ หรือพนักงานเสริฟ์ทำกาแฟหกใส่เสื้อสีขาวทำให้ถ่ายรูปออกมาเห็นรอยเลอะ . . คำถามคือ ถ้าเราเจอเหตุการณ์ที่ไม่เหมือนที่ตั้งใจไว้ เราจะทำยังไง เพื่อให้หลายปีให้หลัง เมื่อย้อนกลับมานึกถึง แล้ววันนั้นยัง คงเป็นวันพิเศษในความทรงจำอยู่ คำตอบแบบสั้นๆคือ จบให้สวยครับ สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นอย่างนี้ครับ หลักการทางจิตวิทยาที่เจะช่วยเปลี่ยนเหตุการณ์ไม่ดี ให้กลายเป็นความทรงจำที่ดีในหลายปีให้หลังคือสิ่งที่เรียกว่า peak-end rule ชื่อฟังดูเหมือนยาก แต่จริงๆไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ข้อเท็จจริงหนึ่งของสมองคือ ปกติสมองเราไม่ได้จำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ได้เท่าๆกัน แต่เราจะจำได้เป็นพิเศษ ตอนที่พีค กับตอนท้าย หรือพูดง่ายๆได้ว่า ประสบการณ์ของเราโดยรวมจะเป็นยังไงไม่ได้ขึ้นกับภาพรวมของเหตุการณ์นั้น แต่ขึ้นกับช่วงที่อารมณ์พีคและตอนท้าย ถ้าสองช่วงเวลานี้ดี เรามีแนวโน้มจะรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นเป็นประสบการณ์ที่ดี . . หลักการนี้เป็นหลักการที่นักการตลาดและคนเขียนบทละคร (บทภาพยนตร์) คุ้นเคยกันดี และนิยมใช้หลักการนี้ในการออกแบบ บริการ เพื่อให้เรารู้สึกว่าได้รับประสบการณ์ที่ดี เช่น ไม่ว่าหนังตอนกลางเรื่องจะเป็นยังไง แต่ตอบจบต้องจบให้ดี ถ้าเล่าเรื่องมา ดีทั้งเรื่องแต่จบไม่ดี คนมีแนวโน้มจะตัดสินว่าภาพยนตร์นั้นไม่ดี หรือบริษัททัวร์จะให้ความสำคัญกับโรงแรมคืนสุดท้าย อาหารมื้อสุดท้าย คือจะต้องพิเศษเพื่อสร้างความประทับใจสุดท้ายที่ดีกับลูกทัวร์ เพื่อให้รู้สึกว่าในภาพรวมการไปเที่ยวนั้นเป็น ประสบการณ์ที่ดี . . เราสามารถนำหลักการเดียวกันนี้ มาออกแบบชีวิตของเราให้มีความสุขมากขึ้นได้ เช่นกัน หลักการคือ พยายามทำให้แต่ละ episode ในชีวิตเราจบลงแบบสวยๆเท่าที่พอจะทำได้ . . ในชีวิตคนๆหนึ่ง เมื่อให้นึกถึงว่า ชีวิตของเขามีความสุขแค่ไหน สิ่งที่สมองของคนจะทำคือ มองย้อนกลับไปในอดีต แล้วนึกถึง ชีวิตในแต่ละช่วงว่าเรามีความสุขมาก น้อยแค่ไหน หรือพูดง่ายๆอาจจะพูดได้ว่า สมองเราจะนำเรื่องย่อๆของแต่ละช่วงชีวิต มาเขียนต่อๆกัน ถ้าเรื่องย่อแต่ละตอนหรือ แต่ละ episode ในชีวิตของเรามีความสุข เราก็มีแนวโน้มจะรู้สึกว่าชีวิตในภาพรวมของเรามีความสุข . . ดังนั้นความสุขระยะยาว ของชีวิต จึงขึ้นกับว่า เรื่องย่อแต่ละตอนของเรามีความสุขหรือไม่ ถ้าเราสามารถทำให้แต่ละเรื่องย่อ มีความสุขได้ เราก็มีแนวโน้มจะรู้สึกว่าชีวิตช่วงที่ผ่านมาเป็นชีวิตที่ดี ชีวิตมีความสุข กลับมาที่เรื่องของเราในตอนแรก ในชีวิตจริง เราไม่สามารถจะบังคับให้สิ่งต่างๆในชีวิตมันดี มันเพอร์เฟ็คอย่างที่เราต้องการได้ และแน่นอนว่ายิ่งเราตั้งใจมากแล้ว เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่เราต้องการ เรายิ่งหงุดหงิดไม่พอใจมาก จนหลายครั้งเราเดินออก จากเหตุการณ์นั้นไปเลย เช่น เดินออกจากร้านเพื่อเป็นการแสดงความไม่พอใจ หรือ หงุดหงิดตลอดและพูดถึงความผิดพลาด ไม่เลิก . . สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรากำลังทำให้เหตุการณ์นั้นจบไม่สวย อีกหลายปีให้หลังเมื่อเราย้อนกลับมานึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น สิ่งที่เราจะจำได้คือ ความทรงจำที่ไม่ดี หรือความทรงจำที่ทำให้เราโกรธ . . วิธีการที่ดีกว่า เมื่อเราเข้าใจหลักการทางจิตวิทยา ของ peak-end rule คือ การพยายามอดทน ข่มใจ พยายามฝืนผ่านช่วงเวลาที่ไม่น่าพอใจนั้นไปให้ได้ หรือพยายามโฟกัสถึง เป้าหมายที่เราต้องการ (เช่น จะทำให้ลูกมีความสุขในวันเกิด แล้วพยายามบรรลุเป้าหมายนั้น) หัวใจหลักคือ พยายามให้ เหตุการณ์นั้นจบสวยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วส่วนที่เหลือ เดี๋ยวสมองเราจะจัดการต่อให้เองครับ . . หลายปีผ่านไปเมื่อเรา นึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น สมองเราจะเขียน episode นั้นของชีวิตขึ้นมาใหม่ (*** อธิบายเกี่ยวกับความจำเพิ่มเติมด้านล่าง) ถ้าเหตุการณ์ในวันนั้นจบสวย episode นั้นของชีวิตก็จะเป็นความทรงจำที่มีความสุข แล้วถ้าเราเป็นคนที่ในชีวิตเต็มไปด้วย episode ที่มีความสุข เราก็จะรู้สึกว่าชีวิตเรามีความสุข . . เห็นไหมครับ แค่เราเข้าใจการทำงานของสมองนิดเดียว ชีวิตก็มี ความสุขขึ้นได้ ปล. ทั้งหมดที่เล่าเป็นตามทฤษฎีนะครับ ใครมีประสบการณ์ในชีวิตจริงที่พ้องกับที่เล่าไป แชร์ให้ฟังหน่อยนะครับว่า ที่เล่าไปเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ⭐️ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความทรงจำเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจมากขึ้น ⭐️ ปกติเวลาเราพูดถึง ความจำระยะยาว เรามักจะคิดว่า สมองเราบันทึก ข้อมูลหรือเหตุการณ์นั้นเหมือน คอมพิวเตอร์เซฟข้อมูล หรือ กล้องวีดีโอถ่ายคลิปไว้ แต่สมองเราไม่ได้จำแบบนั้น ครับ สมองเราจะนำเหตุการณ์ที่เรารับรู้แยกออกเป็นส่วนๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง ใบหน้าคน อารมณ์ ฯลฯ แล้วแยกไปเก็บไว้ที่บริเวณต่างๆของสมอง . . เมื่อเราเรียกความมทรงจำนั้นกลับมา หรือจำอะไร ได้ สมองจะ "สร้างเหตุการณ์" ขึ้นมาใหม่ โดยเรียกความทรงจำแต่ละส่วนกลับมาประกอบกัน ดังนั้น สิ่งที่เราเรียกว่าความจำนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้น แต่เป็นเหตุการณ์ที่สมอง "สร้าง" ขึ้นมาใหม่ในตอนที่เรา "นึกถึง" เหตุการณ์นั้น . . พูดง่ายๆคือ ความจำ ไม่ใช่การบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอดีต แต่เป็นสิ่งที่สมองเขียนขึ้นมาใหม่ ณ.ปัจจุบัน ขณะนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมด) จะไม่ตรงกับเหตุการณ์จริง (สมองจะแอบเติมรายละเอียดที่สมองจำไม่ได้ เข้ามาด้วย เสมอ) ถ้าชอบเรื่องราววิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์แบบนี้ แนะนำอ่านหนังสือได้รับรางวัลของหมอเอ้วเพิ่มเติม เช่น เรื่องเล่าจากร่างกาย เหตุผลของธรรมชาติ และ 500 ล้านปีของความรัก สามารถเข้าไปเลือกดูที่ Chatchapol Book ใน shopee และ Line Myshop ได้เลยค่ะ 👉 Shopee : https://bit.ly/2EnsQbQ 👉 Line Myshop : https://bit.ly/2UX8w5F ไม่อยากพลาดการแจ้งเตือนเมื่อมีโพสต์หรือบทความใหม่ๆ Add Line เพื่อรับการแจ้งเตือนต่างๆได้ที่นี่ 🔔 Line: @chatchapolbook 👉 https://bit.ly/368PJv4