Chatchapolbook.com

เข้าใจอาการของโรคมะเร็ง (ที่ไม่ควรละเลย) ว่าเกิดขึ้นได้ยังไง

เข้าใจอาการของโรคมะเร็ง (ที่ไม่ควรละเลย) ว่าเกิดขึ้นได้ยังไง

………………………………………………………………..
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Ocylens คอนแทคเลนส์รายวัน
………………………………………………………………..

ปกติคนเรามักมีอาการเจ็บป่วย เล็กๆ น้อยๆ กันได้เรื่อยๆ ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะไม่มีอันตรายมาก คือ เป็นแค่การทำงานผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ เหมือนเวลาเดิน บางครั้งเราก็สะดุด เตะนู่นนี่ ขาแพลง แต่ไม่มีอันตรายระยะยาว

แต่จะมีอาการบางอย่างที่ควรจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะอาจจะมีสาเหตุใหญ่ซ่อนอยู่

อาการส่วนใหญ่ที่จะพูดถึงนี้ ไม่ได้จำเพาะกับโรคมะเร็งนะครับ หมายความว่า ถ้ามีอาการนี้ไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคมะเร็ง แล้วคนส่วนใหญ่ที่มีอาการเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง เพียงแต่ด้วยความที่อาการเหล่านี้เป็นอาการของมะเร็งที่พบได้บ่อยในชายไทย เราจึงควรรู้ไว้สักหน่อย

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ผมอยากจะอธิบายหลักการให้ฟังคร่าว ๆ สักเล็กน้อยว่า พอให้นึกภาพออกว่า มะเร็งมันทำให้เกิดอาการป่วยได้อย่างไรบ้าง

โดยกว้าง ๆ อาการที่เกิดจากมะเร็งอาจจะแบ่งเพื่อให้จำได้ง่ายขึ้นได้เป็นสามกลุ่มด้วยกัน

หนึ่ง เป็นอาการจากก้อนที่ไปเบียดอวัยวะปกติ

สอง เป็นอาการจากก้อนที่กระจายไปอวัยวะอื่น (ซึ่งเราคงจะไม่คุยกันในบทความนี้ เพราะอยากเน้นไปที่อาการเริ่มแรกที่พบได้เร็ว) เช่น คลำพบต่อมน้ำเหลืองโตหรือปวดกระดูก จากมะเร็งที่แพร่กระจายไป

สาม อาการทั่วๆไป จากสารเคมีที่มะเร็งหลั่งออกมา ซึ่งมักจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การแบ่งอาการเป็นสามแบบเช่นนี้ จะช่วยให้จำหรือเข้าใจอาการระยะเริ่มแรกของมะเร็งได้ง่ายขึ้นครับ ยิ่งเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับมะเร็งที่พบบ่อยๆในผู้ชาย (สำหรับของคุณผู้หญิงเรามาคุยกันในโอกาสหน้านะครับ) เราก็จะเข้าใจได้มากขี้นว่า อาการอะไรบ้างที่เราควรจะให้ความสนใจมากหน่อย

วันนี้ขอยกตัวอย่างมะเร็งที่พบบ่อย ๆ ในผู้ชายสักสามชนิดนะครับ ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่

………………………………………………………………..

1.

มะเร็งตับ

ปัญหาของมะเร็งตับอย่างหนึ่งคือ ในช่วงแรกที่ก้อนยังเล็กคือ ประมาณ 1-5 เซนติเมตร มักจะไม่ค่อยมีอาการ เพราะตับของเราก็ยังสามารถทำงานได้ดีแม้ว่าจะเสียหายไปมากพอสมควรแล้วก็ตาม

แต่เมื่อก้อนเบียดเนื้อตับที่ปกติมากถึงระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะเป็นตอนที่ก้อนมีขนาดเกินกว่า 10 เซนติเมตรขึ้นไป การทำงานของตับก็จะแย่ลงจนมีอาการป่วยขึ้นมาได้ เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง เพราะก้อนมะเร็งไปเบียดท่อน้ำดีในตับจนน้ำดีไหลออกไปจากตับไม่ได้ เกิดการคั่งแล้วล้นทะลักกลับไปในเลือด ผลคือ เกิดภาวะตัวเหลืองตาเหลือง

ถ้าก้อนมะเร็งเบียดไปถึงเยื่อที่หุ้มตับก็จะทำให้เกิดอาการปวดจุก ๆ ที่บริเวณท้องด้านขวาบน ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ

ถ้าก้อนอยู่ที่ผิว ๆ ของตับ เราก็อาจจะคลำเจอเป็นก้อนแข็ง ๆ ที่ท้องด้านขวาบนได้ โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึก ๆ (เพราะตับจะโดนปอดและกระบังลมดันจนคลำได้ง่ายขึ้น)

ถ้ามีอาการเหล่านี้ ก็ไม่ควรจะรอนาน ควรจะแวะไปให้หมอตรวจสักหน่อย
แต่อย่างที่บอกครับ โรคมะเร็งตับกว่าจะมีอาการก้อนก็มักจะใหญ่แล้ว ทางที่ดีกว่าคือ ถ้าเรามีความเสี่ยงของมะเร็งตับ เช่น เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี ดื่มแอลกอฮอล์เยอะ มีโรคตับแข็ง หรือ มีภาวะไขมันพอกตับ ก็ควรจะไปตรวจกับหมอเป็นระยะๆ ตามที่หมอนัด เผื่อมีก้อนขึ้นมา จะได้ตรวจพบแต่เนิ่นๆ

………………………………………………………………..

2. มะเร็งปอด

เช่นเดียวกับมะเร็งตับ คือ ด้วยความที่ปอดของเราทำงานได้ดีมากถึงขนาดว่า เนื้อปอดเสียหายไปเยอะแล้วเราก็อาจจะยังไม่รู้สึกอะไร นั่นทำให้มะเร็งปอดในช่วงแรกๆ ไม่ค่อยมีอาการให้เรารับรู้ได้ ยกเว้นแต่ในบางครั้งตัวก้อนมะเร็งไปอยู่ในตำแหน่งที่พอดีทำให้เกิดการอุดตันบางส่วนของปอด หรือไปกดโดนเส้นเลือดเส้นประสาท ก็ถือว่าโชคดีเพราะจะมีอาการให้รับรู้ได้ตั้งแต่ก้อนยังเล็ก เช่น

ถ้าก้อนมะเร็งไประคายเคืองเส้นประสาท ก็อาจจะทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง (เกิน 2-3 สัปดาห์)
ถ้าก้อนไปเบียดเส้นเลือดเล็ก ๆ จนฉีกขาดก็อาจจะทำให้เราไอมีเลือดปน
ถ้าก้อนไปเบียดโดนท่อลมใหญ่ๆ จนตีบแคบก็อาจจะทำให้ปอดบางส่วนแฟบลงจนทำให้เราเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าปกติ เช่น เดิมเป็นคนแข็งแรงออกกำลังกายสม่ำเสมอแต่ต่อมาเดินขึ้นบันได้ก็เหนื่อยแล้ว เป็นต้น
ถ้าก้อนไปเบียดโดนเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียง ก็อาจจะทำให้เรามีเสียงแหบได้

อีกอาการที่พบได้บ่อย แต่มักจะไม่ใช่อาการเริ่มแรกแล้ว ก็คือ ถ้าก้อนเบียดหรือกัดกินมาจนโดนผนังช่องอก (กระดูกซี่โครง กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก) ก็อาจจะทำให้เจ็บหน้าอกได้ โดยเฉพาะเวลาไอ หรือหายใจเข้าออกลึก ๆ เป็นเวลานาน ๆ

แต่ก็เช่นเดียวกับมะเร็งตับครับ คือ หลายครั้งตอนที่ก้อนยังเล็กมักจะไม่มีอาการ ด้วยเหตุนี้ หมอจึงพยายามแนะนำให้เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเป็นหลัก โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ ถ้าคุณเป็นคนที่สูบบุหรี่จัดมาเป็นเวลาหลาย ๆ ปีและอายุมากกว่า 55 ปีแล้ว ก็อาจจะต้องลองคุยกับหมอว่าคุณเหมาะจะตรวจคัดกรองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปริมาณรังสีต่ำ (ซึ่งไม่ได้มีใช้ในทุกโรงพยาบาล) หรือไม่ เพราะอาจจะช่วยให้พบมะเร็งแต่เนิ่นๆได้

………………………………………………………………..

3 มะเร็งลำไส้ใหญ่

อีกแล้วครับ ด้วยความที่ลำไส้ใหญ่เป็นเหมือนท่อกลวงขนาดใหญ่ ดังนั้นก้อนมะเร็งตอนที่ยังมีขนาดเล็ก จะเหมือนก้อนกรวดในท่อขนาดใหญ่จึงมักไม่ค่อยทำให้เกิดอาการอะไร

แต่เมื่อก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น หรืออยู่ในตำแหน่งที่บังเอิญไปรบกวนการบีบตัวของลำไส้ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการระบบทางเดินอาหารได้ เช่น อาจจะท้องผูก หรืออาจจะท้องเสียเรื้อรัง หรือถ้าก้อนเกิดขึ้นใกล้ ๆ รูทวารหนัก ก็อาจจะไปเบียดทำให้รู้สึกปวดเบ่ง คือปวดเหมือนจะถ่ายบ่อย ๆ อุจจาระอาจจะมีขนาดเรียวยาวกว่าเดิม

ถ้าก้อนมะเร็งมีเลือดออก ก็อาจจะทำให้มีเลือดสีคล้ำ ๆ ปนออกมากับอุจจาระได้ หรือถ้ามีเลือดออกน้อยๆ จนมองด้วยตาไม่เห็นเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะซีดได้ ซึ่งภาวะซีดจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย

แต่มะเร็งลำไส้ต่างไปจากมะเร็งปอดและมะเร็งตับ ตรงที่สามารถตรวจพบได้ง่ายกว่าเพราะลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะกลวงที่เราส่องเข้าไปดูภายในได้ง่าย

การตรวจก็ทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ส่องกล้องเข้าไปดู การตรวจหาเลือดในอุจจาระร่วมกับการส่องกล้อง หรือ การตรวจด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

จากที่คุยกันมาทั้งหมดก็หวังว่าจะช่วยให้พอเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดอาการของมะเร็งมากขึ้นนะครับ

บทความนี้คงไม่สามารถให้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับอาการของมะเร็งได้ แต่หวังว่าสิ่งที่อธิบายไปจะช่วยให้เข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังอาการต่าง ๆมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเข้าใจหลักการพื้นฐานเหล่านี้แล้ว เมื่อมีโอกาสไปอ่านข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งอื่น จะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้ง่ายขึ้นครับ

………………………………………………………………..