13 อาณานิคม ประวัติศาสตร์ในช่วงเริ่มต้นของอเมริกา (ตอนที่ 2)
ในตอนที่แล้ว เราจบเรื่องราวไว้ตอนที่ ชาวยุโรปค้นพบว่าจะหาความร่ำรวยทวีปอเมริกาได้ยังไงบ้าง หลังจากนั้นชาวยุโรปชาติต่างๆ ก็แห่กันมาครอบครองดินแดนในทวีปอเมริกา โดยผู้เล่นหลักในช่วงแรกๆ จะมีสเปน ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ส่วนอังกฤษซึ่งมีปัญหาภายในประเทศจะตามมาอย่างจริงจังภายหลัง
การเข้ามาของสเปนเราเคยคุยกันไปแล้ว ตอนที่ผมทำคอนเทนต์เรื่องของ conquistador กับการล่มสลายของแอซเท็กและอินคา สรุปอย่างย่อคือ ในช่วงแรกเหล่าคองคิสตาดอร์มาเพื่อผจญภัย สำรวจ และพิชิตชนพื้นเมือง จากนั้นก็นำความร่ำรวยกลับประเทศแม่ แต่ต่อมาหลายคนก็สนใจจะมาตั้งรกรากในทวีปอเมริกากันมากขึ้นจนเกิดเป็นชุมชนต่างๆ ขึ้นมา
นักสำรวจผู้พิชิตหรือคองคิสตาดอร์เหล่านี้มาด้วยรางวัลล่อใจว่า เขาจะได้ส่วนแบ่งจากสิ่งที่พวกเขาค้นพบไม่ว่าจะเป็นดินแดน ทองคำ และแรงงาน เพราะดินแดนไหนก็ตามที่ชาวสเปนไปพิชิตได้ ชาวสเปนถือว่าชนพื้นเมืองของดินแดนนั้นจะกลายเป็นสมบัติของกษัตริย์สเปนทันที และกษัตริย์สเปนก็จะยกชนพื้นเมืองเหล่านั้นให้กับคองคิสตาดอร์คนนั้นเป็นรางวัล ทำให้นักสำรวจคนนั้นกลายเป็นผู้ปกครองดินแดนไปโดยปริยาย
รูปแบบการปกครองแบบนี้มีชื่อเรียกว่า เอนโคมิเอนดา (encomienda) โดยตัวผู้ปกครองจะมีหน้าที่ดูแลแรงงานชนพื้นเมืองเหล่านั้น ทั้งในแง่การเกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ และดูแลความเป็นอยู่ให้เหมือนเป็นประชาชนของสเปน แต่ในทางปฏิบัติจริงการปกครองแบบ encomienda จะมีลักษณะการกดขี่เหมือนใช้แรงงานทาส ทั้งการเฆี่ยนตี พรากครอบครัว ข่มขืน รวมถึงการสังหารโดยไม่ลงโทษตามกฎหมาย
ต่อมาชาวสเปนก็ค้นพบแร่ทองและแร่เงินปริมาณมหาศาล ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือประเทศเปรู เม็กซิโก และโบลิเวีย จึงขนแร่มีค่าเหล่านี้กลับไปประเทศจนทำให้สเปนกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในยุโรป แต่ความร่ำรวยนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหากับสเปนตามมาในภายหลัง
ปัญหาความร่ำรวยของสเปนนำไปสู่ผลเสียอย่างน้อย 2 ข้อด้วยกัน อย่างแรกคือ ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากแร่เงินและทองที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเราเรียกช่วงเวลานั้นว่า Spanish Price Revolution ทำให้สินค้าและค่าแรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งดีต่อกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของแร่เงินและทอง หรือกลุ่มชนชั้นสูง แต่ลำบากชาวบ้านทั่วไป
ผลกระทบต่อมา
เมื่อชนชั้นสูงของสเปนรวยขึ้นก็เริ่มซื้อของหรูๆ แพงๆ จากชาติอื่นในยุโรป ทำให้ประเทศอื่นพลอยร่ำรวยขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ได้รับผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อไปด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่มากเท่าสเปน แต่ก็มากพอจะทำให้ชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงความร่ำรวยนี้ลำบากเพิ่มขึ้น
ผลกระทบต่อมา
เมื่อสเปนกลายมาเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ ก็มีผลให้ศูนย์กลางของการค้าขายย้ายจากทะเลเมดิเตอเรเนียน มาที่มหาสมุทรแอตแลนติก คืออย่างนี้ครับ ในยุคก่อนหน้าศูนย์กลางการค้าขายและเศรษฐกิจจะอยู่ที่เมืองอย่าง เวนิส (Venice) หรือเจนัว (Genoa) เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างการค้าของยุโรปและเอเชีย แต่เมื่อการค้าสำคัญๆ ย้ายมาที่ทวีปอเมริกา ประเทศที่เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปค้าขายกับทวีปอเมริกาได้ก็กลายมาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในช่วงแรกคือ สเปน (ต่อมาจะเป็นดัชต์)
อย่างที่สองคือ ราชวงศ์ Habsburgs ที่ปกครองสเปนในเวลานั้น นำความร่ำรวยนี้ สร้างกองทัพจนแข็งแกร่ง จากนั้นก็ใช้กองทัพนี้ทำสงครามกับชาติอื่นๆ จนกลายเป็นมหาอำนาจของยุโรป โดยหลายครั้งเป็นสงครามที่มีรากมาจากความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกันของแต่ละประเทศในยุโรป (โปรเตสแตนต์ vs คาทอลิก) โดยในเวลานั้นสเปนเหมือนเป็นตัวแทนของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ที่ต่อสู้กับประเทศต่างๆ ที่เป็นโปรเตสแตนต์ ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การสร้างอะไรที่เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจนอกเหนือไปจากการเสียชีวิตของผู้คนมากมาย (วันหลังจะเล่าเนื้อหาในส่วนนี้ให้ฟังเพิ่มเติมครับหัวข้อคือ Europenan wars of Religion และสงครามสามสิบปี) หรือพูดง่ายๆ ว่าผลาญเงินไปมากมายกับสงคราม
อย่างไรก็ตามสุดท้าย การมาครอบครองอเมริกาก็ทำให้สเปนเป็นมหาอำนาจที่ร่ำรวย มีดินแดนอาณานิคมมากมาย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นทางตอนใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา (ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจในซีรีส์นี้) เช่น ดินแดนที่ปัจจุบันคือรัฐ ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย เนวาดา อริโซนา เป็นต้น
และนี่ก็คือภาพกว้างๆ ของสเปนในอเมริกา คราวนี้มาดูฝรั่งเศสกันบ้าง
ในแง่นโยบายฝรั่งเศสจะมีนโยบายที่ต่างไปจากสเปน เพราะในช่วงเวลานั้นฝรั่งเศสอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่า French adventurism คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการขยายอำนาจในยุโรป ทำให้โฟกัสทรัพยากรต่างๆ ทั้งเงิน กองทัพและแรงงานคนไปที่ยุโรปมากกว่า ที่จะส่งคนไปสำรวจหรือตั้งรกรากที่อเมริกาอย่างจริงจัง
แล้วด้วยความที่ไม่ได้ลงทุนทรัพยากรในการตั้งรกรากหรือครอบครองดินแดนมาก จึงต้องเน้นไปที่การค้าขายกับชนพื้นเมือง โดยฝรั่งเศสจะโฟกัสที่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาบริเวณที่เป็นชายฝั่งของประเทศอเมริกาในปัจจุบัน หรือบริเวณทางตอนเหนือของแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi) การค้าขายหลักๆ ก็จะเป็นพวกขนสัตว์ ซึ่งสร้างรายได้ให้ชาวฝรั่งเศสดีพอสมควร แต่ด้วยความที่กษัตริย์ของฝรั่งเศสไม่มีเวลามาสนใจทางนี้มากนักจึงไม่ได้มีคนของตัวเองมาดูและจัดเก็บภาษีคืนให้กับกษัตริย์ ทำให้แม้ว่าการค้าขายจะเป็นไปด้วยดีแต่ประเทศแม่ก็ไม่ได้เงินจากตรงนี้เต็มที่
สำหรับดินแดนที่ฝรั่งเศสไปครอบครองส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศแคนาดาปัจจุบัน ส่วนที่อยู่ในประเทศอเมริกาก็มีบ้างเช่น ส่วนที่เป็นรัฐหลุยส์เซียน่าในปัจจุบัน (Louisiana ตั้งตามพระนามพระเจ้าหลุยส์ ซึ่งต่อมานโปเลียนขายให้กับรัฐบาลอเมริกาเพื่อนำเงินไปทำสงครามในยุโรป)
จะเห็นว่าในภาพรวม ฝรั่งเศสไม่ได้ร่ำรวยจากทวีปอเมริกาเท่าสเปน ฝรั่งเศสไม่ได้พบแร่มีค่าอย่างที่สเปนพบ ทำให้ฝรั่งเศสมองว่า รายได้จากทวีปอเมริกาไม่ได้มีมากนัก ยิ่งในเวลาต่อมามีสงครามกับอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ฝรั่งเศสไม่อยากลงทุนกับทวีปอเมริกามากนัก
คราวนี้มาดูดัชต์กันบ้าง
ดัตช์ในช่วงเวลานั้นเพิ่งจะหลุดพ้นจากการอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนมาได้ไม่นาน ซึ่งการหลุดจากสเปนมาได้ส่วนหนึ่งก็มาจากสงครามศาสนาในยุโรปที่เราเพิ่งพูดถึงกันไป
แล้วด้วยความที่ดัชต์เป็นสาธารณรัฐของกลุ่มพ่อค้าที่ไม่เคยมีสถาบันกษัตริย์ที่แข็งแกร่ง ทำให้สาธารณรัฐดัชต์มีแต่ชนชั้นกลางที่สนใจแต่การค้าขายเป็นหลัก ชาวดัชต์จึงพยายามมองหาโอกาสทำการค้าไปทั่ว ทำให้สาธารณรัฐดัชต์ที่แม้ว่าแทบจะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรเลย แต่อาศัยความเป็นเมืองท่าและการค้าขาย ร่ำรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แล้วก็มีบริษัทที่ชื่อว่า Dutch East India Company หรือตัวย่อในภาษาตัตช์ว่า VOC ซึ่งผมก็เคยทำคอนเทนต์เล่าเรื่องนี้ให้ฟังไปบ้างแล้ว
ตอนที่ดัตช์มาอเมริกา ส่วนหนึ่งก็ต้องการที่จะมองหาความร่ำรวยเหมือนประเทศอื่นบ้าง
แต่ด้วยความที่ดัตช์เป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้มีประชากรมาก และค่อนข้างจะมาช้ากว่าสเปนกับฝรั่งเศสพอสมควร จึงมาสร้างรกรากตั้งชุมชนได้ไม่ใหญ่เท่าสเปนและฝรั่งเศส แต่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าที่สำคัญของโลก
พื้นที่หลักที่ดัตช์ไปตั้งรกรากจะอยู่แถวๆ ริมฝั่งแม่น้ำฮัดสัน (Hudson) โดยพวกเขาเรียกดินแดนเหล่านั้นว่า New Newtherlad ธุรกิจหลักคือ การเป็นเมืองท่า และศูนย์กลางของการค้าขาย โดยเฉพาะเมือง New Amsterdam ที่เป็นตลาดค้าขายขนสัตว์แห่งใหญ่แห่งหนึ่ง ในเวลาต่อมาเมืองนี้จะโดนอังกฤษยึดไปแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น New York ตามพระนามของ Duke of York (กษัตริย์เจมส์ที่ 2 ในเวลาต่อมา)
ดินแดน New Amsterdam ยังมีลักษณะอย่างหนึ่งที่พิเศษ ซึ่งในเวลาต่อมาแทบจะกลายเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นอเมริกาคือ New Amesterdam เป็นชุมชนที่เสรีมาก คือเปิดกว้างมากในแง่ของเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา เพราะอย่างที่บอกว่าดัชต์เป็นพ่อค้าชนชั้นกลาง จึงไม่สนใจว่าคนที่จะเข้ามาอยู่อาศัยจะเป็นชาวอะไร จะนับถือคาทอลิก โปรเตสแตนต์ หรือยูดาย ซึ่งบรรยากาศแบบนี้จะต่างไปจากที่พบในประเทศต่างๆ ของยุโรป
แต่อย่างไรก็ตามด้วยความที่อาณานิคมของชาวดัชต์ตั้งอยู่ใกล้กับอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งให้ความจริงจังในการตั้งรกรากและขยายดินแดนมากกว่า สุดท้ายอาณานิคมของชาวดัชต์ก็ถูกอังกฤษกลืนหายไป ชาวดัชต์จำนวนมากยังอาศัยอยู่ที่เดิม แค่เปลี่ยนไปใช้วัฒนธรรมและภาษาของชาวอังกฤษ
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆ ของชาวยุโรปกลุ่มแรกๆ ที่มาตั้งรกรากในอเมริกา
ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนที่ 3 เราจะไปดูการมาของอังกฤษกันครับ แล้วเราจะไปหาคำตอบว่าทำไมในเวลาต่อมา วัฒนธรรมและภาษาของชาวอังกฤษจึงกลายเป็นวัฒนธรรมหลักของชาวยุโรปในประเทศอเมริกา