13 อาณานิคม ประวัติศาสตร์เริ่มต้นของอเมริกา ตอนที่ 3
1. Introduction
ทุกวันนี้ถ้าเรากางแผนที่ประเทศอเมริกาออกดู เราจะเห็นว่าประเทศนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ จากฝั่งตะวันออกที่ติดมหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงฝั่งตะวันตกที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก
แต่จุดเริ่มต้นของประเทศที่กว้างใหญ่นี้ เกิดขึ้นมาจากดินแดนแคบๆ เลียบชายฝั่งตะวันออกที่วิ่งจากทิศเหนือลงทิศใต้เท่านั้น
ดินแดนแคบยาวแห่งนี้คือ 13 อาณานิคมของอังกฤษที่ในเวลาต่อมาจะเรียกตัวเองว่าอเมริกา
เรื่องราวของ 13 อาณานิคมเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศอเมริกา เพราะหลายอย่างที่ 13 อาณานิคมวางรากฐานไว้ ตั้งแต่ยังไม่มีประเทศอเมริกา มันจะกลายมาเป็นอัตลักษณ์ของอเมริกาจนมาถึงปัจจุบันนี้
และเป็น 13 อาณานิคมของอังกฤษนี้เช่นกัน ที่วันนึงจะรวมตัวกันแล้วบอกว่าไม่ต้องการเป็นประชาชนของกษัตริย์อังกฤษอีกต่อไป จากนั้นก็ทำสงครามประกาศอิสรภาพกับอังกฤษซึ่งถือได้ว่าเป็นมหาอำนาจของโลกในเวลานั้น
เมื่อ 13 อาณานิคมมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอเมริกาขนาดนี้ เรามาทำความรู้จักกับความเป็นมาและเรื่องราวของพวกเขาหน่อยดีไหมครับ
2. จุดเริ่มต้นของ 13 อาณานิคม
อังกฤษในยุคนั้นก็เหมือนชาติยุโรปหลายชาติที่พยายามจะออกล่าดินแดนต่างๆ มาเป็นอาณานิคม
ไอเดียของการล่าอาณานิคม มีรากมาจากความเชื่อทางเศรษฐศาสตร์ของยุคสมัยที่เชื่อในสิ่งที่เรียกว่า mercantillism คือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าความร่ำรวยของชาติจะมาจากการสะสมทรัพยากรไว้กับชาติตัวเองให้มากที่สุด ในการทำการค้าก็จะต้องขายให้ได้เยอะๆ ซื้อให้น้อยๆ ซึ่งจะต่างจากปัจจุบันที่เชื่อในการค้าเสรีที่เน้นประสิทธิภาพ เน้นการร่วมมือกัน และพยายามค้าขายแลกเปลี่ยนแบบที่ค้าขายไปได้นานๆ แล้วรวยไปด้วยกัน
และด้วยวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบ mercantillism จึงนำไปสู่ไอเดียว่า ชาติไหนจะร่ำรวยได้ต้องล่าอาณานิคมให้เยอะๆ ไปหาทรัพยากรธรรมชาติ หาแรงงาน หาแร่ธาตุมีค่า หาตลาดใหม่ๆ ต้องตั้งกำแพงภาษีเพื่อที่จะขายให้ได้เยอะกว่าการนำเข้า
จากนั้นเมื่อชาติร่ำรวยมากขึ้น ก็จะนำความมั่งคั่งนั้นไปสร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง แล้วก็วนกลับไปล่าอาณานิคมเพิ่มขึ้น หรือรบกับชาติยุโรปอื่นเพื่อขยายดินแดนของตนเอง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อสเปนนำหน้ามาหาอาณานิคมในทวีปอเมริกาจนร่ำรวย ชาติยุโรปอื่น เช่น โปรตุเกส ฝรั่งเศส รวมถึงอังกฤษก็อยากตามมาบ้าง
แต่อังกฤษเวลานั้นมัวแต่ติดปัญหาวุ่นวายภายในประเทศของตัวเอง จึงไม่สามารถโฟกัสกับทวีปอเมริกาได้เต็มที่
ปัญหาของอังกฤษที่ว่าคืออะไร?
3. ปัญหาภายในของอังกฤษ
ตรงนี้ผมขอเล่านอกเรื่องไปยังประวัติศาสตร์ของอังกฤษนิดนึงนะครับ เพราะมันจะทำให้เห็นความเชื่อมโยงโดยเฉพาะในวันหน้าตอนที่เราคุยประวัติศาสตร์ของอังกฤษให้ฟัง และถ้าเข้าใจส่วนนี้จะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้นด้วยว่า ทำไมชาวอังกฤษส่วนหนึ่งจึงหนีมาที่ทวีปอเมริกา
ปัญหาภายในของอังกฤษในช่วงเวลานั้นคือเรื่องของศาสนา
เรื่องราวมันเริ่มต้นขึ้นตอนที่ กษัตริย์เฮนรีที่ 8 แห่งราชวงศ์ Tudor ของอังกฤษครองราชย์อยู่
ถ้าใครคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ของอังกฤษช่วงนี้จะรู้ดีว่า เป็นช่วงเวลาที่มีสีสันและถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์ก็หลายครั้ง หรือถ้าไม่คุ้นเคย ก็อาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของ กษัตริย์ที่อภิเษกสมรส 6 ครั้ง และสั่งประหารราชินีของตัวเองไป 2 ครั้ง ซึ่งก็คือเฮนรีที่ 8 พระองค์นี้เอง
ในตอนที่กษัตริย์เฮนรีที่ 8 พยายามจะหย่ากับราชินีพระองค์แรกที่มีพระนามว่าแคทเธอรีนนั้น ด้วยความที่พระองค์และราชินีเป็นคาทอลิก จึงไม่สามารถจะหย่าได้เพราะขัดกับหลักศาสนา
อย่างไรก็ตาม วิธีหนึ่งที่นิยมทำกันในยุคนั้นเวลาที่กษัตริย์ต้องการจะอภิเษกสมรสใหม่ คือการไปขอให้พระสันตะปาปาประกาศว่าการอภิเษกสมรสนั้นเป็นโมฆะเพราะไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็จะถือว่าการแต่งงานไม่ได้เกิดขึ้น สามารถอภิเษกสมรสใหม่ได้
กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ก็ติดต่อพระสันตะปาปาไป ซึ่งขณะนั้นคือ พระสันตะปาปา Clement VII ก็ทรงปฏิเสธไป ซึ่งจะว่าไปแล้วก็แปลก เพราะอย่างที่บอกว่าการทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกมาก และพระสันตะปาปาส่วนใหญ่ก็ไม่อยากจะขัดใจกษัตริย์ของชาติต่างๆ ถ้าไม่จำเป็น (เป็นเรื่องของการพึ่งพาระหว่างศาสนจักรและสถาบันกษัตริย์ในยุโรป)
คำถามคือทำไมพระสันตะปาปาทรงปฏิเสธเฮนรีที่ 8 ?
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่พระองค์ต้องปฏิเสธก็เป็นเรื่องของการเมืองเช่นกัน
ด้วยความที่เวลานั้น กษัตริย์ของสเปนและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์คือ พระเจ้าชาร์ลสที่ 5 (Charles V) บุกเข้ายึดครองกรุงโรม ทำให้พระสันตะปาปาเองอยู่ในสถานะที่คล้ายๆ จะเป็นนักโทษของพระเจ้าชาร์ลสที่ 5
แล้วที่สำคัญคือ พระเจ้าชาร์ลสพระองค์นี้เป็นหลานของพระนางแคทเธอรีนราชินีของอังกฤษ
ถ้ามองในมุมของพระเจ้าชาลส์ที่ 5 ก็มองว่า การมีป้าเป็นราชินีของอังกฤษทำให้มีพันธมิตรหรือบารมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าพระนางถูกปลดจากการเป็นราชินี ก็จะเป็นผลเสียต่อพระองค์ ซึ่งพระสันตะปาปาเองก็รู้เรื่องนี้ดี จึงต้องเลือกหนทางที่คิดว่าจะปลอดภัยกับตัวเองไว้ก่อน
เมื่อพระสันตะปาปาไม่ช่วย กษัตริย์เฮนรีจึงแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนนิกายของประเทศอังกฤษไปเลย คือ ประกาศว่าศาสนาของอังกฤษจะไม่ขึ้นตรงกับพระสันตะปาปา แต่กษัตริย์อังกฤษจะเป็นประมุขของศาสนาเอง (ทำให้หย่าได้)
ในแง่ความเชื่อก็จะเปลี่ยนไปมีความคล้ายกับนิกายโปรเตสแตนต์ (Protestant) มากขึ้น เพียงแต่ว่าเป็นโปรเตสแตนต์ที่ไปไม่สุดทาง ยังคงลักษณะบางอย่างของคาทอลิกไว้
คำถามคือ ทำไมพระองค์จึงทำเช่นนั้น? ทำไมไม่เป็นโปรเตสแตนต์ไปเลย ?
คำตอบคือ เพราะศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกจะมีพิธีกรรมต่างๆ ที่ดูศักดิ์สิทธิ์และอลังการในขณะที่โปรเตสแตนต์จะตัดสิ่งเหล่านี้ออกไปเกือบหมด ซึ่งถ้ามองในแง่ของสถาบันกษัตริย์การมีพิธีกรรมที่ดูศักดิ์สิทธิ์ ดูยิ่งใหญ่ มันจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันให้ดูเหมือนเป็นตัวแทนของพระเจ้ามาปกครองโลกมนุษย์มากขึ้น ประชาชนที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาจะพลอยรู้สึกว่าสถาบันกษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ ศาสนาคริสต์ของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 จึงเป็นโปรเตสแตนต์แบบไม่สุดทาง จึงมีชื่อเรียกที่ต่างไปว่า Anglican church หรือโบสถ์ของอังกฤษ (รายละเอียดตรงนี้มีความสำคัญสำหรับเรื่องของเรา เพราะเดี๋ยวจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเป็นโปรเตสแตนต์ให้สุดทาง คือเป็นโปรเตสแตนต์แบบบริสุทธิ์ที่ถูกเรียกว่า Puritans และเป็นคนกลุ่มนี้ที่จะเดินทางไปตั้งเมืองพลีมัธ หรือ Plymouth ที่อเมริกา ซึ่งเป็นชุมชนแห่งที่ 2 ของอเมริกาและเป็นต้นกำเนิดของรัฐแมสซาชูเซตซึ่งมีเมืองสำคัญอย่างบอสตัน)
แต่ศรัทธาความเชื่อทางศาสนามันไม่ใช่จะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ คนจำนวนมากที่นับถือคาทอลิกมาทั้งชีวิตจึงไม่ยอมรับ และเริ่มมีความขัดแย้งระหว่างคนที่เชื่อต่างกับรัฐขึ้นมาบ้าง
ต่อมาเมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 สิ้นพระชนม์ โอรสที่ชื่อ เอ็ดเวิรด์ที่ 6 ซึ่งนับถือโปรเตสแตนต์ก็ขึ้นมาปกครอง แต่พระองค์ครองราชย์ได้ไม่นาน ก็สิ้นพระชนม์ พี่สาวที่มีพระนามว่า แมรี่ ก็ขึ้นครองราชย์ต่อ
พระนางแมรี่พระองค์นี้คือ พระราชธิดาของอดีตราชินีแคทเธอรีนหรือราชินีพระองค์แรกของเฮนรีที่ 8 พระองค์จึงมีความเป็นคาทอลิกอย่างเต็มที่ (เพราะเป็นเจ้าหญิงของสเปน) ดังนั้นเมื่อขึ้นมาครองราชย์ก็เปลี่ยนประเทศอังกฤษกลับไปเป็นคาทอลิกอีกครั้งแล้วให้มีการปราบปรามโปรเตสแตนต์อย่างรุนแรง จนพระองค์ถูกขนานนามว่า bloody Mary
พระนางแมรี่ก็ครองราชย์ได้ไม่นานมากนักก็สิ้นพระชนม์ แล้วพระนางอลิซาเบธที่ 1 หรือ Virgin queen (พระราชธิดาของอดีตราชินี Anee Boleyn ราชินีที่โดนสั่งประหารด้วยการตัดพระเศียร) ก็ขึ้นครองราชย์แล้วเปลี่ยนอังกฤษกลับไปนับถือนิกายโปรเตสแตนต์อีกครั้ง
ประเด็นที่เล่าทั้งหมดมานี้ คืออยากให้เห็นภาพว่า อังกฤษในช่วงเวลานั้นมีการเปลี่ยนกษัตริย์หลายครั้งมาก ในเวลาไม่นาน และแต่ละครั้งก็นำไปสู่ความขัดแย้งและการปราบปรามทางศาสนาสลับไปสลับมา จนไม่รู้ว่าใครเป็นฝ่ายไหน ต้องมีสปายคอยสอดแนม จนอาจจะเรียกได้ว่ายุคนี้เป็นต้นกำเนิดของหน่วยสืบราชการลับ (มีการแอบฟัง สื่อสารด้วยโค้ดลับ ถอดรหัสจดหมาย ฯลฯ) ดังนั้นแม้ว่าอังกฤษจะอยากไปตั้งอาณานิคมในอเมริกา แต่ก็ไม่สามารถทุ่มทรัพยากรได้อย่างเต็มที่
ด้วยเหตุนี้ ในระยะแรกของการขยายอิทธิพลอังกฤษในอเมริกา จึงต้องใช้วิธีการกึ่งโจรสลัดที่เรียกว่า privateer
4. ยุคของ Privateer
ในการต่อสู้ระหว่างกองทัพเรือ บางครั้งแต่ละชาติจะมีการจ้างนักเดินเรืออิสระที่ไม่ได้เป็นทหารของกองทัพมาช่วยรบ โดยจะใช้งานในลักษณะที่กษัตริย์ออกเอกสารอนุญาตให้โจมตี และปล้นสะดมเรือของชาติคู่แข่งได้อย่างอิสระ
ปกติถ้าจะจับลูกเรือเป็นเชลยหรือยึดเรือได้ก็จะนำเรือไปให้รัฐก่อน จากนั้นเมื่อรัฐขายเรือไปได้ ก็จะแบ่งส่วนแบ่งให้ การทำเช่นนี้ สิ่งที่รัฐได้นอกเหนือจากสมบัติที่ปล้นมาได้ ก็คือการทำให้ชาติคู่แข่งอ่อนแอและจนลง ส่วนโจรสลัดก็ได้สมบัติ win/win
เนื่องจากคนที่ทำตัวเหมือนโจรสลัดเหล่านี้เป็นเอกชน หรือ private จึงถูกเรียกว่าเป็น privateer
ในช่วงแรกที่อังกฤษยังไม่สามารถมาทุ่มทรัพยากรกับอเมริกาได้เต็มที่ แต่อังกฤษก็ต้องการขัดขามหาอำนาจคู่แข่งอย่างสเปน อังกฤษจึงใช้ privateer มาคอยปล้นสะดมเรือสินค้าและเรือขนสมบัติของสเปน โดยคนเหล่านี้หลายคน ถือว่าเป็นฮีโร่ที่มีชื่อเสียงของประเทศไม่ว่าจะเป็น เซอร์ วอลเตอร์ ราลีย์ (Sir Walter Ralege) หรือ ฟรานซิส เดรก (Francis Drake) เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ระหว่างที่ปล้น อังกฤษก็พยายามจะหาทางตั้งชุมชนควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะเซอร์ ราลีย์ ที่นำคนไปตั้งชุมชนที่มีชื่อว่า โรอาโนก (Roanoke เรื่องนี้แอดมินเอ็ม เคยเล่าไว้แล้ว) แล้วสัญญาว่าอีกหนึ่งปีจะกลับมาพร้อมเสบียง แต่เพราะสงครามกับสเปนทำให้กว่าจะกลับมาได้ก็ 4 ปีผ่านไป และเมื่อมาถึงก็พบว่าชุมชนนี้หายสาบสูญไปแล้วเหลือไว้แต่รอยสลักบนต้นไม้ว่า “CROATOAN” ทำให้ชุมชนที่หายไปนี้ กลายเป็นตำนานลึกลับเรื่องแรกของชาวอเมริกัน (Lost Colony of Roanoke Island)
แต่หลังการล้มเหลวครั้งแรกๆ สุดท้ายอังกฤษก็สามารถมาตั้งชุมชนได้สำเร็จอย่างยากเย็น
เมืองนี้จะเป็นเมืองที่ชาวเมืองต้องทนอดอยากถึงขนาดต้องกินเนื้อมนุษย์
เมืองนี้จะเป็นเมืองที่ผู้คนล้มตายจากไข้ป่า (มาลาเรีย) จนเกือบตั้งเมืองไม่สำเร็จ
และเป็นเมืองนี้เอง ที่จะกลายมาเป็นเมืองแรกของประเทศอเมริกา
เมืองนี้มีชื่อว่า James Town
สำหรับเรื่องราวของการตั้งเมืองนี้จะเป็นอย่างไร และจากเมืองแรกจนกลายเป็น 13 อาณานิคมเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะไปคุยกันต่อในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนจบของซีรีส์นี้ครับ