Chatchapolbook.com

13 อาณานิคม ประวัติศาสตร์เริ่มต้นของอเมริกา ตอนที่ 5

13 อาณานิคม ประวัติศาสตร์เริ่มต้นของอเมริกา ตอนที่ 5

1.

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศมหาอำนาจของโลก

ย้อนเวลากลับไปประมาณ 400 ปีที่แล้ว ประเทศนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยชุมชนทั้งหมด 13 แห่งริมฝั่งทิศตะวันออก โดยชุมชนทั้ง 13 นั้นเรียกได้ว่าต่างคนต่างมา ต่างคนต่างอยู่ แทบจะไม่มีความรู้สึกร่วมว่าเป็นพวกเดียวกันเลย

ชุมชนทั้ง 13 นี้แม้ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเหมือนกัน แต่สำเนียงก็ต่างกันเพราะมาจากหลายดินแดนทั้งอังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ เยอรมนี และประเทศยุโรปอื่นๆ สกุลเงินที่ใช้ก็ต่างกันเพราะแต่ละชุมชนก็มีสกุลเงินของตัวเอง

ในตอนนี้ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ผมอยากจะชวนไปทำความรู้จักกับชุมชนทั้ง 13 นี้แบบคร่าวๆ เพื่อเข้าใจว่าทำไม 13 ชุมชน หรือ 13 อาณานิคมนี้จึงต่างกัน และอะไรที่ทำให้อาณานิคมทั้ง 13 นี้ตัดสินใจที่จะรวมตัวกันและประกาศอิสรภาพจากประเทศแม่

2.

หลังจากที่เมือง Jamestown และชุมชน Plymouth ตั้งเมืองขึ้นมาได้สำเร็จ ในปี ค.ศ. 1607 และ 1620 ตามลำดับ

ชาวอังกฤษและยุโรปอื่น ก็ทยอยเดินทางมาทวีปอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นอาณานิคมอื่นๆ ขึ้นมาเช่น ชุมชน New Hampshire ในปี 1623 ชุมชน New Amsterdam ของชาวดัตช์ในปี 1624 (ต่อมากลายเป็น New York เมื่ออังกฤษเข้ายึดครอง) ชุมชนอ่าว Massachusetts ในปี 1630 เป็นต้น

โดยคนที่เดินทางมาอเมริกาก็มากันด้วยหลายเหตุผล ทั้งพ่อค้าที่มาหาความร่ำรวย คนยากจนที่ไม่มีอนาคตในยุโรป คนที่ขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐเลยหนีมา หรือกลุ่มศาสนาที่มีความเชื่อต่างไปจากศาสนาของรัฐจึงหนีการกดขี่หรือการปราบปรามมายังดินแดนใหม่ที่พวกเขามีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาในแบบที่ตัวเองต้องการ จะเห็นว่าแต่ละชุมชนตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายที่ต่างกันและพยายามดำเนินชีวิตหรือสร้างวัฒนธรรมใหม่ โดยยึดหลักตามจุดประสงค์ของกลุ่มผู้ก่อตั้ง ทำให้แต่ละชุมชนมีแนวโน้มจะสนใจเรื่องของชุมชนตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้มองชุมชนอื่นเป็นพวกเดียวกัน

3.

ด้วยความที่ 13 อาณานิคมนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีภูมิศาสตร์หลากหลายมาก ทำให้ความต่างที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มต้นต่างกันมากขึ้นไปอีก โดยในภาพรวมอาณานิคมทั้ง 13 นี้สามารถที่จะแบ่งกว้างๆ ตามภูมิศาสตร์เป็นสามดินแดนที่ต่างกัน คือ ตอนเหนือ ตอนกลาง และตอนใต้

ทางตอนเหนือจะมีอากาศที่หนาวเย็นกว่า พื้นดินจะมีความเป็นหินเป็นเขาสูงๆ ต่ำๆ เป็นป่า ทำให้ไม่ค่อยเหมาะกับการทำการเกษตรนัก ถ้าจะปลูกได้ ก็จะเป็นพวกอาหารหลักที่จำเป็น เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ปลูกในพื้นที่ไม่ใหญ่มาก แต่ด้วยความที่ชายฝั่งมีลักษณะเว้าๆ แหว่ง ๆ เยอะ จึงเหมาะกับการเป็นท่าเรือ ดังนั้นเศรษฐกิจของทางตอนเหนือจึงพึ่งการเดินเรือค้าขาย ประมง การต่อเรือเพื่อขาย ในแง่สังคมเนื่องจากชุมชนทางตอนเหนือเริ่มต้นมาจากกลุ่มคนที่หนีมาด้วยเหตุผลทางศาสนา จึงเน้นการเรียนการสอนและสังคมที่ให้ความสำคัญกับศาสนา ในแง่อาชีพนอกเหนือจากพ่อค้าก็จะมีวิชาชีพเยอะ เช่น หมอ นักกฎหมาย นักบัญชี เป็นต้น

แล้วถ้าจำกันได้ตอนที่เราคุยกันเรื่อง การค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและการเลิกทาส เราคุยกันว่า การเริ่มเรียกร้องให้เลิกค้าทาสมาจากกลุ่มคนทางศาสนา กลุ่มคนที่ว่าก็คือ คนที่อยู่ทางตอนเหนือนี้ครับ โดยเฉพาะจาก Rhode Island

รัฐทางตอนเหนือได้แก่

Massachusetts ซึ่งเป็นรัฐที่เติบโตขึ้นมาจากการรวมของชุมชนที่อ่าวแมสซาชูเซตกับพลีมัธ

Rhode Island เป็นรัฐที่ตั้งโดยกลุ่มคนที่ถูกเนรเทศจากแมสซาชูเซตเพราะมีความเห็นทางศาสนาที่ต่างกัน จึงมาสร้างชุมชนใหม่ที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา คนที่เดินทางเข้ามาในชุมชนช่วงแรกๆ จึงเป็นคนที่ต้องหนีจากบ้านเดิมเพราะมีความเห็นทางศาสนาต่างไปจากคนส่วนใหญ่

New Hampshire ก็คล้ายกันคือ คนที่มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งช่วงแรกๆ ก็ถูกเนรเทศออกจากแมสซาชูเซตเพราะมีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน เลยย้ายมาที่นี่แล้วช่วยก่อร่างสร้างชุมชนใหม่ขึ้นมา

Connecticut ก็เป็นที่หลบภัยของคนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างไปเช่นกัน แรกเริ่มทีเดียวเป็นชุมชนของชาวดัตช์แต่ต่อมาก็ถูกกลืนเป็นชุมชนของชาวอังกฤษไป

4.

ทางตอนกลาง จะมีลักษณะเด่นคือ ดินอุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตรได้ดี เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง จนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าของคนในแถบนี้ และเมื่อมีคนเดินทางมาค้าขายเยอะ ดินแดนตอนกลางจึงมีความหลากหลายของเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมมากที่สุด

รัฐทางตอนกลางเช่น

New York ซึ่งเดิมชื่อนิวเนเธอร์แลนด์ ต่อมาหลังจากที่อังกฤษรุกเข้ามาจนกลายเป็นของชาวอังกฤษก็เปลี่ยนชื่อเป็น New York ตามพระนาม Duke of York ของอังกฤษ

นิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) เดลาแวร์ (Delaware)

ทางตอนใต้ลักษณะเด่นคือ เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ ดินดีเหมาะสำหรับการเพาะปลูก ทำให้ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองของอังกฤษมาครอบครองพื้นที่บริเวณนี้มากเป็นพิเศษ แล้วก็จะอยู่แบบที่เรียกว่า plantation หรือแบบบ้านไร่ (นึกภาพบ้านใหญ่ๆ สวยๆ ที่คนขาวอาศัยอยู่ ท่ามกลางไร่ที่มีคนงานหรือทาสผิวดำทำงานให้มากมาย) ดังนั้น บ้านใหญ่ๆ แต่ละหลังจะอยู่ห่างไกลกัน คล้ายๆ คฤหาสน์หรือ manor ในยุโรป

สำหรับพืชที่ปลูกก็จะเป็นพวก ฝ้าย ข้าว ยาสูบ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้เจ้าของไร่มากมาย

การเข้าใจตรงนี้จะช่วยอธิบายด้วยว่า ทำไมตอนสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายเหนือรบกับฝ่ายใต้เรื่องการเลิกทาส ทำไมฝ่ายเหนือซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มาอเมริกาด้วยเหตุผลทางศาสนาและเศรษฐกิจไม่พึ่งแรงงานทาสมากนักจึงอยากให้เลิกทาส แต่ทางใต้ซึ่งมาอเมริกาเพราะอยากรวยและต้องพึ่งแรงงานทาสอย่างมากจึงไม่ยอม

รัฐทางตอนใต้ได้แก่

เวอร์จิเนีย (Virginia) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมือง Jamestown ที่เราคุยกันไป และเป็นบริเวณที่ตั้งหลักได้ด้วยเงินจากการทำไร่ยาสูบ ทำให้เป็นเหมือนพี่ใหญ่ของรัฐอื่นๆ เป็นบ้านเกิดของ จอร์จ วอชิงตัน ผู้นำกองทัพของอเมริกาสู้กับกองทัพอังกฤษ และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาด้วย

รัฐนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina) เซาท์แคโรไลนา (South Carolina) เดิมทีเดียวเป็นรัฐเดียวกัน แต่ด้วยความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ คือ ทางตอนเหนือจะเป็นภูเขามากกว่าทำให้เพาะปลูกไม่ดีเท่าทางใต้ จึงทำการค้าขายคล้ายรัฐทางตอนกลางมากกว่า ส่วนทางตอนใต้เป็นที่ราบทำไร่ขนาดใหญ่ได้ เมื่อเวลาผ่านไปความต่างทางเศรษฐกิจก็ทำให้วัฒนธรรมต่างกัน มุมมองทางการเมืองก็เลยต่างกันไปด้วย และเมื่ออัตลักษณ์ต่างกันมาก สุดท้ายก็เลยแยกการปกครองกัน เกิดเป็นสองรัฐที่ใช้ชื่อเดียวกัน

จอร์เจีย (Georgia) ซึ่งเป็นอาณานิคมสุดท้ายใน 13 อาณานิคม เดิมทีเดียวดินแดนนี้เริ่มต้นใช้สำหรับส่งนักโทษที่เป็นหนี้แต่จ่ายไม่ได้ให้มาทำงานใช้หนี้ (ช่วงเวลานั้นคนติดหนี้จนคุกเต็ม) และนำมาเป็นทหารเพราะรัฐนี้ใช้เป็นรัฐกันชนระหว่างอาณานิคมของอังกฤษกับฟลอริดาของสเปน

แล้วด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมในช่วงแรกจนถึงก่อนที่จะทำสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ แต่ละอาณานิคมจึงไม่ได้รู้สึกว่าเป็นพวกพ้องเดียวกันสักเท่าไหร่

และถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาอาณานิคมเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นประเทศเดียวกัน แต่ยุค 13 อาณานิคมก็ได้วางความเป็นอัตลักษณ์ในแง่ความหลากหลายของอเมริกาเอาไว้ คือ เป็นประเทศที่เปิดกว้างและภูมิใจกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา

ก่อนจะจบผมอยากจะขอแตะเหตุผลคร่าวๆ ว่าทำไมในเวลาต่อมาชาวอาณานิคมเหล่านี้จึงอยากแยกตัวจากประเทศแม่ เพราะเรื่องที่เราคุยกันมาจะช่วยให้เข้าใจเหตุผลของทั้งสองฝ่ายได้ง่ายขึ้น

5.

หลังจากการเริ่มต้นที่ดูกระท่อนกระแท่น ต่อมาเมื่อชาวอาณานิคมเริ่มแข็งแกร่งขึ้น และสามารถทำการค้าขายกับประเทศแม่และชาติอื่นๆ มากขึ้น รัฐบาลอังกฤษที่เดิมปกครองแบบหลวมๆ คือ ไม่ควบคุมมาก ไม่เก็บภาษีจริงจัง ปล่อยให้ตั้งตัวได้ (salutary neglect) ก็มองว่าถึงเวลาที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และเริ่มควบคุมดินแดนเหล่านี้มากขึ้นหลังจากที่ปล่อยอิสระมาพักใหญ่ เช่น

มีการออกกฎหมายว่าห้ามค้าขายกับเรือของชาติอื่นที่ไม่ใช่เรือของอังกฤษ เพราะอย่างที่คุยไปก่อนหน้าว่า ยุคสมัยนั้นเชื่อในแนวคิดเศรษฐกิจแบบ Mercantilism คือ ถ้ามีคนได้ก็คือมีอีกฝ่ายหนึ่งเสีย (Zero sum game) ฝ่ายที่ได้คือฝ่ายที่ขายของ ฝ่ายที่เสียคือฝ่ายที่ซื้อของ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ชาติยุโรปอื่นมีสินค้าจากโลกใหม่มาขาย จึงไม่ให้ชาวอาณานิคมอเมริกันขายของให้ชาติอื่น ซึ่งถ้าถามว่าคนอเมริกันชอบไหม? คำตอบคือ ไม่ชอบ เพราะชาวอาณานิคมก็มองผลประโยชน์ของตัวเอง คือ อยากขายของให้กับลูกค้าเยอะๆ ชาติไหนก็ได้

อีกปัจจัยสำคัญคือ ตอนที่อังกฤษเริ่มอยากควบคุมมากขึ้น ชาวอาณานิคมก็เริ่มจะชินกับการปกครองตนเองแล้ว เช่น อาณานิคมเวอร์จิเนียจะมีสภาที่เรียกว่า Hose of Burgesses ซึ่งสมาชิกในสภานี้จะมาจากการเลือกตั้งกันเองของชาวอาณานิคม อาณานิคมอื่นก็จะมีสภาที่คล้ายกัน

หรือในอาณานิคมพลีมัธ ที่เดินทางมากับเรือ Mayflower ตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะลงจากเรือมาเหยียบแผ่นดินอเมริกา ก็มีการลงนามที่เรียกว่า Mayflower Compact ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างพวกเขากันเองว่าจะปกครองตัวเองกันอย่างไรดีเมื่อต้องมาอาศัยอยู่ในที่ห่างไกลปืนเที่ยงเช่นนี้

ดังนั้นในเวลาต่อมาเมื่อประเทศแม่พยายามออกกฎหมายต่างๆ มาควบคุม เช่น กฎหมายภาษี ชาวอาณานิคมก็เลยรู้สึกว่าถูกกดขี่เพราะกฎหมายถูกส่งตรงมาจากสภาที่พวกเขาไม่ได้มีตัวแทนไปนั่งอยู่ในนั้น

ในทางตรงกันข้าม อังกฤษซึ่งมองว่า อาณานิคมทั้ง 13 เริ่มต้นมาจากดินแดนของอังกฤษ เดินทางตั้งรกรากจากการได้รับอนุญาตจากกษัตริย์ของอังกฤษ โดยประชาชนของกษัตริย์อังกฤษ แล้วช่วงแรกอังกฤษก็ยังผ่อนปรนไม่ควบคุม ไม่เก็บภาษีมากนัก พอตั้งตัวได้ก็ควรจะต้องถูกควบคุมเหมือนดินแดนอื่นๆ ของอังกฤษ

และเมื่อเห็นไม่ตรงกันเช่นนี้ ความขัดแย้งจึงเริ่มต้นขึ้น จนสุดท้ายกลายเป็นสงครามประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา …. (ซึ่งวันหลังจะหาโอกาสเล่าให้ฟังครับ)