Chatchapolbook.com

ทำไมเรามักจะคิดว่าอดีตดีกว่าปัจจุบัน?

 เคยเป็นแบบนี้ไหมครับ เวลามองย้อนกลับไปที่เรื่องราวต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หลายครั้งเราจะรู้สึกว่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นมันสวยงาม มันสนุก มันดี นึกถึงแล้วมีความสุข ที่น่าสนใจ คือ ความรู้สึกดีๆ เหล่านี้ มันดีกว่า ตอนอยู่ในเหตุการณ์จริง เคยได้ยินแบบนี้ไหมครับ คนที่อายุมากกว่าเราหลายคน มักบอกว่าอดีตดีกว่าปัจจุบัน สังคมในอดีตปลอดภัยกว่า คนมีความสุขกว่า แต่เมื่อมีการย้อนกลับไปดูสถิติจริงๆ (มีการทำในต่างประเทศ) ก็พบว่าจริงๆแล้ว ในหลายๆด้านปัจจุบันไม่ได้เลยร้ายกว่าโลกอดีต และสังคมในอดีตก็ไม่ได้สวยงามเหมือนที่คนสูงอายุหลายคนรู้สึก ทางจิตวิทยาเรียกภาวะที่คนส่วนใจมีแนวโน้มจะเห็นว่าอดีตสวยงามกว่าปัจจุบันว่า rosy retrospection ……………………………………………………………….. ภาวะ rosy retrospection เป็น cognitive bias หรือสมองหลอกตัวเองอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมักจะพบในคนสูงอายุมากกว่าเด็กหรือคนหนุ่มสาว ภาวะนี้มีผลให้คนที่อายุมากขึ้นมีแนวโน้มจะเห็นโลกไม่ตรงตามความเป็นจริง แม้ว่าหลายครั้งจะมีการยืนยันด้วยหลักฐาน ด้วยสถิติ ก็ยังเชื่อว่า สมัยก่อน ดีกว่า สมัยนี้อยู่ดี . . นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าคนส่วนใหญ่มีภาวะนี้จากการเก็บข้อมูลงานวิจัยเป็นระยะเวลาหลายๆปี เช่น ให้เขียนไดอารี่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน พร้อมทั้งเขียนบรรยายความรู้สึก และให้คะแนนความรู้สึกไว้ด้วย พบว่าเมื่อหลายปีผ่านไป เมื่อให้ระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ เหตุการณ์ต่างๆแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ธรรมดาๆในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้มีความสุขอะไรมากนัก มีแนวโน้มจะกลายเป็นความทรงจำที่สวยงาม นึกถึงแล้วมีความสุขขึ้นมาได้ เป็นต้น . . จริงๆเชื่อว่าหลายท่านเองก็คงจะเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาบ้าง หลายท่านอาจจะเคยผ่านความยากลำบากบางอย่างมาก่อน ตอนอยู่ในเหตุการณ์มันไม่สนุก มันลำบาก มันไม่สบายตัว มันเครียด มันทุกข์ แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไปหลายๆปี เมื่อเรามองย้อนหลัง เรากลับรู้สึกว่า เหตุการณ์นั้นเป็นประสบการณ์ที่ดี บางครั้งเมื่อพูดถึงยังมองว่าเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องสนุกที่ได้นึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ……………………………………………………………….. คำถามที่น่าสนใจ 2 คำถามคือ 1 ทำไมสมองเราจึงทำงานเช่นนี้? ทำไมเมื่อเรามองไปในอดีตเราจึงเห็นโลกบิดเบือนไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง? 2 แล้วการที่สมองทำงานเช่นนี้ มีผลดีหรือผลเสียอะไรต่อเราหรือไม่? นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การทำงานเช่นนี้ไม่ใช่การทำงานที่ผิดพลาดของสมอง แต่เป็นกลไกที่ทำให้ เราไม่กลัวความล้มเหลว เมื่อผิดพลาดแล้วไม่จมอยู่กับสิ่งไม่ดีในอดีต แล้วกล้าที่จะทดลองทำสิ่งนั้นอีกครั้ง ในทางตรงกันข้าม ถ้าสมองเราเห็นโลกเป็นจริง เมื่อเรานึกถึงเรื่องราวต่างๆที่ไม่ดีในอดีต นึกถึงเหตุการณ์ที่เคยผิดพลาด (ซึ่งมีเยอะมาก) เราจะเกิดความกลัวที่จะทดลองอีกครั้ง เราจะไม่กล้าที่จะลองใหม่ ……………………………………………………………….. ถ้ามองในแง่วิวัฒนาการ ก็อาจจะพูดได้ว่าพฤติกรรม ที่ล้มแล้วลุกแล้วกล้าที่จะทดลองใหม่ เป็นพฤติกรรมที่ทำให้คนๆนั้นอยู่รอดได้ดีกว่า มีโอกาสสืบพันธุ์ได้มากกว่า และเมื่อเราเป็นลูกหลานของคนที่ล้มแล้วกล้าลุก แล้วล้มแล้วกล้าที่จะทดลองอีกหลายๆครั้ง สมองเราจึงมีแนวโน้มจะละเลยสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เคยผิดพลาดในอดีต ทำให้เราเห็นโลกอดีตสวยงามกว่าที่เป็นจริง ในทางปฏิบัติ การที่เรารู้ว่าสมองเราทำงานเช่นนี้ เราก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น เมื่อเราต้องทำอะไรที่สำคัญ แต่เรารู้สึกไม่มั่นใจ หรือกลัวว่าผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะทำให้เราอาย เสียหน้า การรู้ว่าสมองเรามีกลไกคอยลบหรือ edit ความทรงจำที่ไม่ดี จะช่วยให้เรากล้าเสี่ยงในสิ่งที่อาจจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มากขึ้น ……………………………………………………………….. ถ้าชอบเรื่องราววิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์แบบนี้ แนะนำอ่านหนังสือได้รับรางวัลของหมอเอ้วเพิ่มเติม เช่น เรื่องเล่าจากร่างกาย เหตุผลของธรรมชาติ และ 500 ล้านปีของความรัก สามารถเข้าไปเลือกดูที่ Chatchapol Book ใน shopee และ Line Myshop ได้เลยค่ะ 👉 Shopee : https://bit.ly/2EnsQbQ 👉 Line Myshop : https://bit.ly/2UX8w5F ……………………………………………………………….. ไม่อยากพลาดการแจ้งเตือนเมื่อมีโพสต์หรือบทความใหม่ๆ Add Line เพื่อรับการแจ้งเตือนต่างๆได้ที่นี่ 🔔 Line: @chatchapolbook 👉 https://bit.ly/368PJv4 . ในทางตรงกันข้ามกลไกนี้ ก็อาจทำให้เราไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในสิ่งที่เราเคยทำไป เป็นกลไกที่ทำให้หลายคนมักจะ "เจ็บแล้วไม่จำ” . ก็หวังว่าเมื่อเราเข้าใจว่า สมองเราทำงานเช่นนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจการตัดสินใจในเรื่องต่างๆของเรา และเข้าใจความคิดของคนอื่นๆได้ดีขึ้นนะครับ