French Revolution 1789 ตอนที่ 1
………………………………………………………………..
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Ocylens คอนแทคเลนส์รายวัน
………………………………………………………………..
การปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มต้นขึ้นด้วยความหวัง
ผู้ที่ร่วมการปฏิวัติเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้สังคมใหม่ดีขึ้น
ประชาชนจะมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองร่วมไปกับกษัตริย์ที่พวกเรารักและนับถือ
ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้น
ในช่วงแรกการปฏิวัติเริ่มต้นได้ดี หลายอย่างเป็นไปตามสิ่งที่คาดหวังไว้
แต่แล้วการปฏิวัติก็หันหัวดำดิ่งลงเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัว
กษัตริย์และพระราชินีถูกสำเร็จโทษด้วยกิโยติน
ประชาชนชาวฝรั่งเศสนับหมื่นจะถูกตัดคอ
เมื่อยุคสมัยของความหวาดกลัวเผาผลาญตัวเองจนมอดไหม้
สิ่งเกิดขึ้นตามมา คือ ผู้นำเผด็จการที่ในเวลาต่อมาสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดิ์
อะไรทำให้ความพยายามที่จะปฏิรูประบอบเก่า
กลับหลงทางผิดพลาดไปได้ถึงขนาดนี้
ซีรีส์หลายตอนจบนี้ ผมจะพาเดินทางย้อนเวลากลับไปทำความรู้จักกับการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1798 กันครับ
คำถามแรกสุดที่น่าสนใจคือ ทำไมการปฏิวัติจึงเกิดขึ้นมาได้ ?
มันมีเหตุอะไรที่ทำให้จู่ ๆ สังคมที่ค่อนข้างสงบมาเป็นร้อยเป็นพันปี ประชาชนลุกฮือขึ้นมาล้มระบอบเก่า ๆ ลงจนหมดสิ้น ?
ปัจจุบันเชื่อว่าปัจจัยหลักๆที่นำไปสู่ การปฏิวัติมีอยู่ 2 ปัจจัยใหญ่
ปัจัยที่ 1 เป็น เรื่องของความไม่เท่าเทียมของคนในสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยระยะยาวที่มีมานาน แล้วคนก็ยอมรับกันมาตลอด แต่ต่อมาเพราะการปฏิวัติความคิดในยุคเรืองปัญญา ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งเดิมๆที่เคยทำกันมาว่า ที่เป็นอยู่มันดีแล้วจริงๆหรือ
ปัจจัยที่ 2 เป็นปัจจัยระยะสั้น ที่เหมือนประกายไฟที่มาจุดให้กระแสความต้องการปฏิรูป ลุกโชนขึ้นมา ปัจจัยระยสั้นนี้ คือ เรื่องของความหิว และความยากจน
เราลองมาดูปัจจัยระยะยาวกันก่อนนะครับ จะเข้าใจปัจจัยนี้ เราต้องนึกภาพสังคมของฝรั่งเศสก่อนหน้าที่การปฏิวัติจะเกิดขึ้นกันก่อน
………………………………………………………………..
2.
สังคมฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นยังมีลักษณะแบบศักดินา คือ สังคมมีความเป็นชนชั้นหรือ 3 ฐานันดร โดยแบ่งออกเป็น 3 ชนชั้นด้วยกัน
ชนชั้นแรกสุด คือ ชนชั้นของนักบวช หรือ clergy
ชนชั้นนี้ แม้ว่าจะรวมกันเป็นฐานันดรเดียว แต่จริง ๆ มีความเหลื่อมล้ำในฐานันดรสูงมาก เพราะนักบวชระดับสูงหรือระดับปกครอง อย่างบิชอป ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานขุนนาง มีฐานะร่ำรวย แล้วไม่ค่อยอยู่ที่วัดของตัวเอง แต่มักจะไปใช้ชีวิตหรูหราในเมืองใหญ่
นักบวชกลุ่มนี้จำนวนมากบวชเข้าศาสนาเพราะต้องการอำนาจ บารมีและเงินทองของสถาบันศาสนา ไม่ใช่เพราะความศรัทธาในศาสนา ทำให้มีการใช้เส้นสายในการแย่งตำแหน่งกันมากมาย
ขณะเดียวกันนักบวชที่ประจำวัดคอยสอนศาสนาหรือทำพิธีกรรมต่างๆที่เรียกว่า priest มักจะมาจากครอบครัวชาวบ้านที่ยากจน ส่วนมากยังยึดมั่นในคำสอน มีศรัทธาต่อศาสนาอย่างแท้จร้ง
แหล่งรายได้หลักของสถาบันศาสนานอกเหนือไปจากเงินบริจาคแล้ว ก็ได้มาจากที่ดินซึ่งมีครอบครองอยู่มากมาย ทำให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรไปขายจนรำ่รวย โดยคนที่ทำไร่ทำนาบนที่ดินก็มักจะเป็นทาสติดที่ดินหรือที่เรียกว่า serf
ชนชั้นหรือฐานันดรที่ 2 คือ ชนชั้นขุนนาง กลุ่มนี้ก็คงไม่ต้องอธิบายมากนะครับ ก็เป็นขุนนาง เป็นอภิสิทธิ์ชน สมัยก่อนหน้าคือกลุ่มที่มีหน้าที่ขี่ม้าไปรบ แต่ต่อมาก็เริ่มใช้นักรบรับจ้างมากขึ้น ไปรบเองน้อยลง
ชนชั้นที่ 3 คือ ชาวไร่ชาวนาทั่วไป ซึ่งในช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติ เป็นชนชั้นที่ยากจนมาก ยากจนถึงขนาดว่า ปีไหนการเกษตรไม่ดี ชาวบ้านมีโอกาสจะขาดอาหารจนตายได้ง่ายๆ
การแบ่งเป็นชนชั้นนี้ไม่ได้แบ่งเล่นๆ แต่มันยังหมายถึง สิทธิ์และหน้าที่ของแต่ละชนชั้นซึ่งต่างกันไปอย่างมาก แนวคิดแบบที่เรียกว่า universal rights แบบที่เราคุ้นเคยยังไม่มี เกือบจะทุกๆอย่างในชีวิตประจำวันจะต้องมีเรื่องของสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น
การล่าสัตว์ในป่า เป็นสิทธิ์ของกษัตริย์และขุนนาง ชาวบ้านจะเข้าไปล่าสัตว์ไม่ได้ (โทษหนักถึงขั้นประหารได้) ขุนนางมีสิทธิ์ที่จะนำตัวชาวบ้านขึ้นศาลและตัดสินได้ ขุนนางและนักบวชได้รับการยกเว้นที่ไม่ต้องเสียภาษีให้กษัตริย์ เป็นต้น
คราวนี้มาดูกันอีกเล็กน้อยว่าการจัดสรรปันส่วนที่ดินทำกินในช่วงเวลานั้นมีปัญหายังไง
ชนชั้น clergy และชนชั้นขุนนาง (ฐานันดรที่ 1 และ 2) ถ้านับจำนวนหัว จะมีจำนวนประมาณ 2.5% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ครอบครองที่ดินรวมกันประมาณ 1 ใน 4 หรืออาจจะถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ
ในทางตรงกันข้าม ฐานันดรที่ 3 ซึ่งเป็นคนประมาณ 97% กลับมีที่ดินทำกินน้อยมาก และเมื่อต้องแบ่งที่ดินกัน ทำให้ที่ดินของแต่ละครอบครัวแปลงมีขนาดเล็กมาก จนเรียกได้ว่า ผลผลิตที่ได้ปริ่มมากๆที่จะไม่พอกิน นี่ยังไม่นับว่า ผลผลิตส่วนหนึ่งต้องจ่ายเป็นภาษีให้กษัตริย์ ขุนนางและวัดอีกด้วย
ดังนั้นถ้าช่วงไหนดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ทำให้ผลผลิตการเกษตรล้มเหลวสัก 1-2 ฤดูกาลติดกัน ชาวบ้านก็จะขาดอาหารถึงขั้นอดตายกันได้ง่ายๆ
แล้วในปีค.ศ.1787 และ 1789 มันก็เกิดขึ้นจริง ๆ ….
………………………………………………………………..
3.
นอกเหนือไปจาก 3 ฐานันดรหลักแล้ว สังคมฝรั่งเศสและยุโรปในช่วงก่อนการปฏิวัติยังมีคนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง
คนกลุ่มนี้คือ พ่อค้า
ช่วงเวลานั้นยุโรปเริ่มเข้ายุคสมัยที่ปัจจุบันเรียกว่า Age of Exploration แล้ว หมายความว่า ยุโรปเดินเรือไปยึดครองดินแดนอื่นๆ มาระยะหนึ่งแล้ว
ผลที่ตามมาคือ ความร่ำรวย ของคนกลุ่มใหม่ที่ทำการค้าขายเป็น แล้วไม่ใช่รวยกันธรรมดาๆ แต่หลายคนรวยแซงหน้าขุนนางเจ้าของที่ดินเก่าๆ อาจจะถึงขั้นรวยแซงหน้ากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ
ถ้ารวยแล้วไม่มีอะไรให้ซื้อก็จะไม่เห็นความแตกต่างซึ่งแต่เดิมยุโรปยุคกลางเป็นแบบนั้นคือ มีเงินก็ไม่รู้จะไปซื้ออะไร แต่เมื่อยุโรปเริ่มเดินทางไปค้าขาย ชาวยุโรปก็เริ่มรู้จัก สินค้าแพงๆหรู เริ่มเห็นว่าผ้าฝ้ายละเอียดๆ สวยๆจากอินเดีย ผ้าแพรลื่นๆจากจีน พรมจากเปอร์เซีย เซรามิกจากจีน เริ่มดื่ม ชา กาแฟ ใส่น้ำตาล สินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้จึงทำให้คนรวยและคนจนดูต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วด้วยความที่ชนชั้นขุนนาง ไม่สามารถมาตามกระแสการเปลี่ยนแปลง คือ ขุนนางไม่สามารถมาค้าขายบ้าง เพราะการค้าขายถูกมองว่าเป็นเรื่องของชาวบ้าน การมาเป็นพ่อค้ามันเสียศักดิ์ศรี มันดูลดชั้นตัวเองลง ขุนนางต่างๆ แม้จะรู้ว่า แหล่งของความรวยมันเปลี่ยนไปไม่ได้อยู่ที่การครอบครองที่ดินแล้ว แต่ไม่สามารถลงมาเล่นตรงนี้ได้
ชนชั้นพ่อค้านี้ เป็นชนกลุ่มที่แปลกที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุโรป จริงอยู่ว่าการค้าขายมีมานานแต่ที่พ่อค้ายุคนี้ต่างไป คือ เป็นชนชั้นแบบที่ไม่เข้ากับฐานันดรไหน เพราะพื้นเพเป็นชาวบ้านที่ไม่มีสิทธิ์พิเศษอะไร แต่สามารถสร้างความร่ำรวยขึ้นมาจนใช้ชีวิตหรูหราแบบขุนนาง หลายคนเป็นคนมีการศึกษาสูง ให้ลูกหลานเรียนหมอ เรียนกฎหมาย
พ่อค้าเหล่านี้ยังมีความสนิทสนมกับกษัตริย์เป็นพิเศษ เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และยังมีการให้เงินกับกษัตริย์ในลักษณะที่ไม่ใช่การจ่ายภาษี แต่ให้เป็นการส่วนตัวเพื่อการใช้ส่วนพระองค์ เพื่อแลกกับอภิสิทธิ์พิเศษบางอย่าง
ความน่าสนใจก็คือคนกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีชีวิตสะดวกสบาย แต่เป็นคนกลุ่มที่สนใจและตื่นตัวต่อแนวคิดใหม่ๆ ของนักปรัชญาหรือฟิโลโซฟ์ (philosophes) มากที่สุด พวกเขาเป็นชนชั้นที่มีบรรพบุรษลำบากมาก่อน แต่สร้างตัวเองมาจนได้สัมผัสว่าชีวิตแบบชนชั้นสูงมันมีหน้าตาเป็นยังไง พวกเขาเป็นชนชั้นที่เห็นความแตกต่าง เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะร่ำรวยแต่ก็ยังเข้าไม่ถึงอำนาจในการปกครอง ยังไม่มีอภิสิทธิ์เหมือนชนชั้นขุนนาง และพบว่าหลายครั้ง ความพยายามของพวกเขาก็ถูกชนชั้นขุนนางใช้อภิสิทธิ์เอาเปรียบไปเฉยๆ ชนชั้นกลางกลุ่มนี้จึงรู้สึกได้ถึงความไม่ยุติธรรม
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ พอจะเห็นภาพใช่ไหมครับว่า ช่วงเวลานั้นคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ ดังนั้นถ้ามีเหตุอะไรบางอย่างมากระตุ้น ความอัดอั้นเหล่าที่เก็บไว้ก็อาจจะปะทุออกมาได้
แล้วสิ่งที่มากระตุ้นเกิดขึ้น โดยมาในรูปของความหิว ….
………………………………………………………………..
4.
แม้ว่าในภาพรวมจะดูเหมือนว่า ฝรั่งเศสในขณะนั้นร่ำรวยอย่างมากจากการค้าขายกับต่างประเทศ แต่ความรวยมันกระจุกตัวอยู่แค่คนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ตัวรัฐบาลของฝรั่งเศสเองกลับมีปัญหาการเงินมาโดยตลอด
การไปยึดครองอาณานิคมแม้ว่าจะทำให้ร่ำรวยขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเพื่อการปกป้องอาณานิคมมากเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่สมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ฝรั่งเศสต้องหมดเงินไปกับการสงครามที่ไม่ค่อยจะได้ประโยชน์มากมาย เป็นเวลาร้อยกว่าปีก่อนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะขึ้นครองราชย์ ฝรั่งเศสทำสงครามเล็กๆน้อยๆมาโดยตลอด หนี้ของรัฐจึงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เริ่มจะจ่ายแค่ดอกยังไม่ค่อยจะไหว
แล้วการเก็บภาษีจะเก็บได้แต่กับฐานันดรที่ 3 ซึ่งยากจนมากอยู่แล้ว รัฐไม่สามารถไปเก็บภาษีจากฐานันดรที่ 1 และ 2 ได้
ปัญหาการเงินมาเลวร้ายลงไปอีก เมื่อฝรั่งเศสตัดสินใจส่งกองทัพไปช่วยอเมริการบในสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ซึ่งในครั้งนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก็ได้เก็บภาษีพิเศษ จากประชาชนทั่วประเทศ รวมไปถึง ขุนนาง และนักบวชด้วย ทำให้ขุนนางและนักบวชไม่พอใจ เพราะถือว่า มาริดรอนอภิสิทธิ์ของขุนนางที่มีมาแต่โบราณ
ดังนั้นในวันที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชย์ ฝรั่งเศสมีปัญหาการเงินที่ย่ำแย่มาก ๆ อยู่แล้ว ชาวบ้านเองก็ยากจนถึงขนาดว่ากินไม่เคยอิ่ม ต้องใส่เสื้อผ้าขาดๆเก่าๆ ส่วนขุนนางที่รู้สึกว่าตัวเองจนลงก็พยายามขึ้นค่าเช่าที่ดิน ทำให้ชาวไร่ชาวนาลำบากยิ่งขึ้นไปอีก
และแน่นอนครับ เมื่อคนท้องหิวก็ย่อมจะโกรธแค้นเป็นธรรมดา และเมื่อโกรธแค้นมันก็ต้องมีใครสักคนที่จะต้องเป็นคนผิด ….
………………………………………………………………..