French Revolution 1789 ตอนที่ 2
………………………………………………………………..
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Ocylens คอนแทคเลนส์รายวัน
………………………………………………………………..
5.
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชย์ในวัย 19 ปี พระองค์เป็นคนเงียบๆ ขี้อาย บุคคลิกไม่สง่างาม ทำอะไรช้า ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ทำให้หลายคนมองว่าพระองค์ไม่ค่อยฉลาด แต่ยังไงประชาชนชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ก็ยังรักพระองค์
ประชาชนฝรั่งเศสก็เหมือนชาวยุโรปส่วนใหญ่ในเวลานั้น คือ รักสถาบันกษัตริย์ ด้วยความที่ในยุคนั้นคนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า กษัตริย์ได้รับอำนาจการปกครองมาจากพระเจ้าโดยตรง (โดยการสนับสนุนของสถาบันศาสนา) และเมื่อพระเจ้ารักมนุษย์เหมือนเป็นลูก ดังนั้น กษัตริย์จึงมีสถานะเหมือนเป็นพ่อของประชาชน
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เมื่อขึ้นครองราชย์ก็พยายามจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แรกสุด ก็ได้แต่งตั้ง แอนน์ เทอร์โกต์ (Anne Robert Jacques Turgot) มาเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งเทอร์โกต์ คนนี้ก็ถือว่าเก่งมาก เป็นนักคณิตศาสตร์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นเพื่อนสนิทกับวอลแตร์ และยังเป็นคนที่ช่วยเขียน encyclopedia ให้กับดิเดอโรต์
เมื่อขึ้นมารับตำแหน่งก็ถึงได้เห็นว่าปัญหาการเงินมันเลวร้ายขั้นไหน จึงพยายามจะรัดเข็มขัดเต็มที่ ลดค่าใช้จ่ายของกษัตริย์และพระราชินี แต่ก็ยังไม่พอ ต้องหาวิธีเพิ่มรายรับเข้ามาด้วย
เทอร์โกต์ประเมินดูแล้วว่า ถึงจะรีดภาษีจากฐานันดรที่ 3 เต็มที่ ก็ยังไม่พอ ทางเดียวที่จะพอแก้ปัญหาการเงินได้ คือต้องเก็บภาษีจากชนชั้นขุนนางและนักบวชด้วย ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดี แต่สำหรับ ขุนนางและนักบวชแล้ว มันเป็นสิ่งที่หยามเกียรติมากๆ เพราะถือว่าเป็นอภิสิทธิ์ของขุนนางมาแต่โบราณ ด้วยเหตุนี้เหล่าขุนนางและนักบวชจึงไม่ชอบเทอร์โกต์ สุดท้ายด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนนัก เขาก็โดนปลอออก
คนที่ขึ้นมารับเผือกร้อนต่อคือ ชาล์ส คาลอนน์ (Charles Alexandre de Calonne) และก็เช่นเดียวกัน พอขึ้นมารับตำแหน่งแล้วเห็นตัวเลขของหนี้จริงๆ ถึงได้รู้ว่าปัญหาใหญ่มาก เขารู้ว่าทางเลือกมีสองทางคือ หนึง เก็บภาษีเพิ่มขึ้นให้ได้ สอง กู้เงินเพิ่ม แต่ปัญหาของวิธีแรกคือ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการจะเก็บภาษีขุนนางมันคือไปทลายวัฒนธรรมโบราณที่อยู่มานานจนแข็งโป๊ก ในช่วงแรกเทอร์โกต์ก็หาทางพยายามลดค่าใช้จ่าย เพิ่มการเก็บภาษี แต่พบว่าทำไม่ได้ เขาจึงต้องไปเลือกทางที่สองนั่นก็คือ หาทางกู้เงินเพิ่ม
แต่เจ้าหนี้ที่ไหนจะกล้าให้ยืมเงิน ถ้ารู้ว่าปัญหาการเงินของรัฐมันปริ่มจะล้มละลาย เทอร์โกต์ จึงต้องใช้วิธีที่เรียกว่า conspicuous consumption หรือแกล้งรวย ด้วยการให้รัฐสร้างโปรเจคใหม่ๆ ออกมามากมาย สร้างกองทัพเรือให้ยิ่งใหญ่ขึ้น สร้างท่าเรือใหม่ ให้กษัตริย์และราชินีจัดราชพิธีที่ฟุ่มเฟือย
วิธีการของเทอร์โกต์ สามารถทำให้ได้เงินกู้มาจำนวนหนึ่ง แต่จะเรียกว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาก็คงไม่ได้ เพราะช่วยให้พอหายใจหายคอได้ระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ก็มีข้อเสียสำคัญคือ ก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านขุนนางและสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา คือ คนอื่นอดอยากยากจน แต่เหล่ากษัตริย์และขุนนางกลับใช้ชีวิตอย่างหรูหรา
และคนที่เหมือนจะเป็นเป้าของความเกลียดชัดมากที่สุดก็คือ พระราชินี Marie-Antoinette
………………………………………………………………..
6.
อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าครับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ตอนนั้นยังรักและเคารพพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แล้วบุคคลิกที่ดูไม่สง่างาม ดูไม่เป็นผู้นำก็ถูกมองในแง่ดีว่า เป็นกษัตริย์ที่ไม่ฟู่ฟ่า ติดดิน เข้าถึงได้
แต่กับพระราชินีของพระองค์ ประชาชนกลับไม่ค่อยปลื้มสักเท่าไหร่
พระนาง Marie-Antoinette เป็นผู้หญิงสวย เป็นพระธิดาของพระนางมาเรีย เธเรซา (Maria Theresa) ที่ยิ่งใหญ่แห่งออสเตรีย แม้ว่าจะเป็นลูกสาวของจักรพรรดินี แต่พระนางมาเรี อ็องตัวเนต ก็เหมือนหญิงสาวส่วนใหญ่ในยุคสมัยนั้น คือ ไม่ได้รับการศึกษาอย่างจริงจังเท่าไหร่นัก พระองค์อ่านเขียนไม่เก่ง พูดภาษาฝรั่งเศสได้ไม่มาก
ทำให้มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับพระราชพิธีที่เข้มงวดและการเมืองที่ซับซ้อนภายในราชสำนักของฝรั่งเศส
ยิ่งในช่วงแรกพระองค์ไม่สามารถมีรัชทายาทให้กับบัลลังก์ฝรั่งเศสได้ ประชาชนฝรั่งเศสก็มองว่า พระองค์ไม่สามารถทำหน้าที่หลักที่สำคัญที่สุดได้ แม้ว่าต่อมาในภายหลังพระองค์จะมีโอรส 4 พระองค์และ อีก 2 คน แต่เมื่อคนไม่ชอบไปแล้ว ก็ยากจะเปลี่ยนใจ ทำให้พระนางยังไงก็ยังเป็น ราชินีชาวต่างชาติที่แปลกแยกของประชาชนชาวฝรั่งเศส
แล้วด้วยความที่ไม่คุ้นเคยกับฝรั่งเศส พระนางมารี อ็องตัวเนต จึงชอบแยกตัวและใช้ชีวิตหรูหราอยู่ในพระราชวัง มากกว่าจะออกไปพบปะประชาชน หรืออุปภัมถ์โครงการต่างๆ อย่างที่พระราชินีองค์อื่นๆของฝรั่งเศสนิยมทำกัน ทำให้ประชาชนยิ่งมองว่าพระองค์ดูห่างไกล เข้าถึงยาก ต่างไปจากพระเจ้าหลยุส์ที่ 16
………………………………………………………………..
7.
กลับมาที่ปัญหาการเงินของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
แม้ว่าวิธีของคาลอนน์ในระยะสั้นจะหาเงินกู้ได้มาก้อนหนึ่ง แต่ในระยะยาวก็ไม่มีใครยอมให้กู้ต่อ ส่วนวิธีการอื่นที่ คาลอนน์ วางแผนควบคู่ไว้ก็ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ แล้วฟ้าฝนก็ยังไม่เป็นใจ ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรน้อยกว่าที่คาดไว้
สถานการณ์จึงมาถึงจุดที่ คาลอนน์ ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องทดลองเรียกประชุมฐานันดรที่ 1-2 หรือ Assembly of Notables เพื่อจะขอเก็บภาษีที่ดิน แล้วด้วยความที่ผู้มาร่วมประชุมไม่เชื่อว่า กษัตริย์จะมีปัญหาการเงินถึงขนาดต้องมาเก็บภาษีจากขุนนางและนักบวช คาลอนน์ จึงต้องเปิดเผยตัวเลขการเงินให้ทุกคนได้รับรู้ ซึ่งสร้างความตกใจให้กับเหล่าขุนนางเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่า ฝรั่งเศสจะมีปัญหาการเงินที่รุนแรงขนาดนี้
เหตุการณ์นี้ทำให้ภาพพจน์ของพระเจ้าหลุยส์ดูด้อยลง คนที่เคยชื่นชมก็เริ่มมองว่า พระองค์อ่อนแอเกินไป ส่วนพระราชินีก็ถูกมองว่าฟุ่มเฟือยแม้ว่ารัฐจะไม่มีเงิน
ส่วนคาลอนน์ ซึ่งเป็นคนเสนอให้มีการเก็บภาษีจากขุนนางและนักบวช ไม่นานก็ถูกไล่ออกจากตำแหน่งและบีบให้เดินทางออกไปจากฝรั่งเศส
แม้ว่าจะไม่มีคาลอนน์แล้วแต่พระเจ้าหลุยส์ซึ่งไม่มีทางเลือก ก็พยายามจะบังคับให้มีการเก็บภาษีจากขุนนางและนักบวช แต่สมาชิกของฐานันดรที่ 1 และ 2 ก็หาทางเลี่ยงโดยการอ้างว่า พระเจ้าหลุยส์ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้น จะทำได้ ต้องเป็นการตัดสินจาก สภาฐานันดร หรือ General estate เพื่อมาลงมติเท่านั้น
การประชุม Estates-General ที่ไม่เคยถูกเรียกประชุมมานานถึง 175 ปี จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง
โดยพระเจ้าหลุยส์ไม่รู้ตัวเลยว่า การประชุมในครั้งนั้นจะกลายเป็นการเปิดประตูไปสู่การปฏิวัติ …
………………………………………………………………..