French Revolution 1789 ตอนที่ 3
………………………………………………………………..
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Ocylens คอนแทคเลนส์รายวัน
………………………………………………………………..
8.
เป็นเวลากว่า 175 ปีมาแล้วที่การตัดสินใจหรือการออกกฎต่างๆของรัฐ สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการเรียกประชุมสภา
นับตั้งแต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นต้นมา กษัตริย์ของฝรั่งเศสก็สามารถรวมอำนาจการตัดสินใจเกือบทั้งหมดมาไว้ที่คน ๆ เดียวได้ การปกครองของฝรั่งเศสจึงมีความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างเต็มตัว
กษัตริย์ของฝรั่งเศสเรียกได้ว่าเป็นราชวงศ์ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จมากที่สุดราชวงศ์หนึ่งอย่างที่ราชวงศ์อื่น ๆ ในยุโรปไม่สามารถทำได้
ดังนั้นเมื่อพระเจ้าหลุยส์ถูกบีบให้ต้องเรียกประชุมสภาฐานันดรทั้ง 3 หรือที่เรียกว่า Estates-General ขึ้นในปีค.ศ. 1789 จึงไม่มีใครรู้ว่าพิธีการของการประชุมที่ไม่เคยถูกจัดมานานนี้มีอะไรบ้าง ถึงขนาดว่าต้องไปเปิดตำราอ่านกันดู
ในการประชุมครั้งนั้น แต่ละฐานันดรส่งตัวแทนมาร่วมประชุม ฐานันดรละ 300 คน แต่เนื่องจากฐานันดรที่ 3 เป็นฐานันดรที่ใหญ่ จึงได้รับอนุญาตให้ส่งตัวแทนมาได้ 600 คน
โดยตัวแทนของแต่ละฐานันดรก็จะมาพร้อมกับลิสต์ข้อเรียกร้องที่ฐานันดรของตัวเองต้องการ เพื่อเตรียมจะมาเจรจาต่อรองกันในการประชุม
เหล่าขุนนางก็มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะเรียกร้องอำนาจการปกครองจากกษัตริย์คืนมาบ้าง หลังจากที่โดนสถาบันกษัตริย์ยึดไปเกือบหมดในร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ส่วนฐานันดรที่ 3 ก็มาพร้อมกับลิสต์ข้อเรียกร้องนับหมื่นข้อ คือ เห็นอะไรที่คิดว่าไม่ถูกต้องก็ช่วยกันเขียนลงมา เช่น สิทธิ์ในการไปล่าสัตว์ในป่า โรงเรียนสอนหมอตำแย กระต่ายของขุนนางที่ไปกินพืชที่ชาวไร่ชาวนาปลูกไว้ การต้องจ่ายภาษีมากเกินไป ฯลฯ
แต่มีอย่างหนึ่งที่ทั้ง 3 ฐานันดรเห็นพ้องกันคือ วันที่กษัตริย์มีอำนาจอย่างสมบูรณ์ได้จบลงแล้ว
………………………………………………………………..
9.
การประชุมเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1789 การเข้าห้องประชุมเต็มไปด้วยพิธีที่ยุ่งยากและซับซ้อน ลำดับการเข้าห้องประชุมก็ต้องเป็นไปตามลำดับชั้น โดยตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 ต้องเข้าเป็นลำดับสุดท้ายและนั่งอยู่ด้านหลังสุด การแต่งกายก็มีการกำหนดว่าจะต้องแต่งอย่างไร สีอะไร โดยตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 จะต้องใส่สีดำเท่านั้น
พิธีกรรมที่มากมายและยุ่งยากสร้างความไม่พอใจให้กับตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 หลายคน บางคนตัดสินใจที่จะใส่เสื้อสีฉูดฉาดมาเข้าประชุมเพื่อเป็นการแสดงออกว่าต้องการจะต่อต้านพิธีกรรมที่ไม่มีเหตุผลเหล่านี้
การประชุมเริ่มต้นขึ้นด้วย ฌาคส์ เน็คเกอร์ (Jacques Necker) รัฐมนตรีเศรษฐกิจคนใหม่ได้แจกแจงให้ฟังถึงสถานการณ์การเงินของฝรั่งเศสและทำไมต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
แต่การประชุมก็เริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่แรกว่าสุดท้ายคงจะตกลงอะไรกันได้ยาก เพราะแม้แต่กระบวนการว่าจะโหวตกันยังไง ก็ยังตกลงกันไม่ได้ โดยกษัตริย์ ขุนนางและนักบวช ต้องการจะให้โหวตตามฐานันดร คือ แต่ละฐานันดรมีหนึ่งเสียง กฎหมายจะผ่านได้หรือไม่ต้องได้รับการโหวต 2 ใน 3
แต่ตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 ก็ไม่พอใจ เพราะแม้ว่าพวกเขาจะมีจำนวนมากแต่จะให้มีแค่เสียงเดียวได้ยังไง และพวกเขาก็รู้ว่ายังไงสองฐานันดรแรกก็คงจะร่วมมือกัน เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้นตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 จึงต้องการให้โหวตตามจำนวนหัว คือ หนึ่งคนมีหนึ่งเสียง
อ่านมาถึงตรงนี้ถ้านึกภาพว่าฐานันดรที่ 3 เป็นชาวไร่ชาวนายากจนที่ไม่มีการศึกษาก็คงต้องลบภาพนั้นทิ้งไปก่อนนะครับ เพราะส่วนใหญ่ของคนที่มาเป็นตัวแทนของฐานันดรที่ 3 คือ ชนชั้นกลาง เช่น พ่อค้าร่ำรวยที่มีประสบการณ์เคยเดินทางไปเห็นต่างประเทศ นายธนาคาร หมอ นักกฎหมาย ทนายความ ซึ่งคนเหล่านี้อ่านหนังสือมาเยอะ สามารถโต้เถียงด้วยเหตุผลได้เก่ง จะว่าไปแล้ว ฐานันดรที่ 3 อาจจะเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูงสุดในการประชุมก็เป็นได้
………………………………………………………………..
10.
หลังจากการประชุมผ่านไปประมาณหนึ่งเดือน การพูดคุยก็ยังไม่ไปไหน แล้วดูเหมือนว่ายิ่งเถียงกัน ก็ยิ่งมีอารมณ์ทำให้แต่ละฐานันดรยิ่งไม่ยอมโอนอ่อนให้กันมากยิ่งขึ้น และเป็นช่วงเวลานี้เอง ที่ตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 บางคนเริ่มไปชักชวน นักบวช และขุนนาง ให้มาเข้าร่วมกับฐานันดรที่ 3 โดยเฉพาะนักบวชที่มาจากชาวบ้านที่ยากจน และขุนนางระดับล่าง ๆ
นอกเหนือไปจากนั้นขุนนางและนักบวชจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เคยอ่านหนังสือของฟิโลโซฟส์แล้วเห็นด้วยกับแนวคิดใหม่และต้องการเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ก็ตัดสินใจย้ายมาเข้าร่วมกับฐานันดรที่ 3
ในวันที่ 17 มิถุนายน กลุ่มคนที่เดิมเป็นตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 จึงประกาศว่าพวกเขาไม่ใช่ตัวแทนของฐานันดรที่ 3 อีกต่อไป เพราะขณะนี้มีตัวแทนจากฐานันดรที่ 1 และ 2 มาเข้าร่วมอุดมการณ์ด้วย ดังนั้นพวกเขาเป็นตัวแทนของประเทศฝรั่งเศส พวกเขาจึงเรียกตัวเองว่าเป็น National Assembly หรือสมัชชาแห่งชาติ และสิ่งที่พวกเขาเสนอในที่ประชุมคือ ความต้องการของประชาชนชาวฝรั่งเศส
แน่นอนครับ พระเจ้าหลุยส์ ย่อมต้องไม่ยอมรับให้คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่าเป็นตัวแทนของประเทศ และเรียกตัวเองว่า National Assembly เพราะมัน คือ การแสดงท่าทีของการปฏิวัติอย่างเห็นได้ชัด เป็นครั้งแรก
………………………………………………………………..
11.
3 วันถัดมา คือวันที่ 20 มิถุนายน ตัวแทนของ สมัชชาแห่งชาติก็เดินทางมาเพื่อประชุมกันตามปกติ แต่กลับพบว่า ประตูห้องโถงที่ใช้ประชุมโดนล็อคอยู่
สำหรับเหตุผลว่าทำไมห้องประชุมจึงโดนล็อคไม่ชัดเจนนัก แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า พระเจ้าหลุยส์เป็นคนสั่งให้ล็อคเพื่อให้ตัวแทนสมัชชาแห่งชาติไม่มีที่ประชุมจนต้องแยกสลายกันไปเอง
ตัวแทนของ National Assembly จึงตัดสินใจที่จะไปยึดเทนนิสคอร์ตที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนในพระราชวังแวร์ซาย์เพื่อใช้เป็นที่ประชุมและมีการกล่าวปฏิญาณว่า พวกเขาจะไม่ยอมแยกย้ายและยกเลิกการประชุมจนกว่าพวกเขาจะร่างรัฐธรรนูญของชาติขึ้นมาได้สำเร็จ เหตุการณ์นั้น กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญเพราะเป็นการแสดงความุ่งมั่นที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และเป็นรัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้กับทุกคนซึ่งก็รวมไปถึงกษัตริย์ด้วย
ปัจจุบันเหตุการณ์นั้น เป็นที่รู้จักกันว่าในชื่อว่า the Tennis Court Oath
ถึงตรงนี้จะเห็นแล้วว่า การประชุมมันเริ่มออกมาในลักษณะต่างคนต่างทำ และจากเดิมที่การประชุมถูกเริ่มต้นเพื่อให้กษัตริย์เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา กลายเป็นมีกลุ่มใหม่ที่ตั้งตัวเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา และยังเรียกตัวเองว่าเป็นตัวแทนของประเทศ
คำถามคือ พระเจ้าหลุยส์รับมือกับสถานการณ์นี้ยังไง ?
คำตอบคือ พระองค์เลือกที่จะนิ่ง ไม่ตัดสินใจทำอะไรทั้งนั้น พระองค์เรียกประชุมทุกชนชั้น ปฏิเสธที่จะยอมรับ National Assemby แต่ไม่ได้แสดงท่าที่ชัดเจนนักว่าจะทำอะไร จะแก้ไขสถานการณ์หรือต้องการอะไร
นอกเหนือไปจากนั้นยังให้มีการรวบรวมกองกำลังทหารจำนวน 30,00 นาย ให้มาตั้งค่ายอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชวังแวร์ซาย โดยไม่บอกใครว่า จะทำอะไรกับกองทหารนั้น
แล้วอย่างที่เราก็รู้ ๆ กันอยู่ ในสถานการณ์ที่อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน จะเกิดอะไรต่อก็ไม่รู้ ผู้คนก็จะเริ่มกลัว ข่าวลือจะเริ่มระบาด จากความกลัวก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นความโกรธ
และจุดอ่อนที่สำคัญของพระองค์นี้จะนำไปสู่ผลเสียที่ร้ายแรงต่อพระองค์เอง เชื่อกันว่า ถ้าในตอนนั้นพระองค์ตัดสินใจที่จะปราบด้วยกองทัพ ก็มีโอกาสที่จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ หรือถ้าพระองค์ตัดสินใจ สนับสนุน National Assembly ตั้งแต่แรกๆ พระองค์ก็อาจจะอยู่ในสถานะที่ได้รับการนับถือมากกว่าที่จะเกิดขึ้นจริง
ช่วงเวลาที่ไม่ชัดเจนนี้ นักบวชและขุนนางอีกจำนวนหนึ่งก็ทยอยย้ายข้างไปเข้ากับ National Assembly เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็รวมไปถึง ลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าหลุยส์ที่มีพระนามว่า ฟิลิปป์ ดุ๊กแห่ง ออร์ลิอ็อง (Phillpe duc d’Orleans) จนในที่สุด อาจจะเพราะเห็นว่า ไม่สามารถต้านกระแสไว้ได้แล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็มีคำสั่งให้นักบวชและขุนนางที่เหลือทั้งหมด เข้าร่วมกับ National Assembly ในวันที่ 27 มิถุนายน
แต่การยอมรับที่ช้าเกินไปเช่นนี้ ทำให้ประชาชนไม่มองว่าพระเจ้าหลุยส์เต็มใจสนับสนุน แต่ต้องยอมแพ้เพราะไม่สามารถต้านทานกระแสไว้ได้
………………………………………………………………..
12.
คืนนั้น ประชาชนชาวเมืองปารีสออกมาเฉลิมฉลอง ร้องรำทำเพลง กันตามท้องถนนเพราะเชื่อว่า ตัวแทนของประชาชนสามารถเอาชนะ ระบอบปกครองแบบเก่าได้แล้ว สถานการณ์เหมือนว่าทุกอย่างจะเริ่มเข้าที่ ประชาชนจะมีอำนาจในการปกครองมากขึ้น เสียงเรียกร้องของประชาชนจะได้รับการตอบสนองมากขึ้น
แต่ภายใต้ความสำเร็จที่เห็นได้นี้ ยังมีบางอย่างที่เหมือนจะยังไม่ชัดเจน
กองทหาร 30,000 นายที่ประจำการใกล้กับแวร์ซาย์ ถูกเรียกมาเพื่ออะไร ? พระเจ้าหลุยส์ยอมแพ้แล้วจริง ๆ หรือ ?
และที่สำคัญสุดคือ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ราคาของขนมปังกำลังขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แล้วเพราะราคาที่เพิ่มขึ้นของขนมปัง
คุกบาสตีลล์ (Bastille) จะถูกทำลายลง ….
………………………………………………………………..