ว่ากันว่าความรู้คืออาวุธในเชิงสร้างสรรค์ และยิ่งถ้าเป็นการเรียนรู้วิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์เชิงประวัติศาสตร์อย่างมีสีสันแล้วล่ะก็ เราทุกคนคงจะได้ทั้งความเข้าใจครบถ้วนและความบันเทิงครบครัน ราวกับได้วัคซีนที่ป้องกันเราจากความตื่นกลัวในสิ่งที่ยากจะเข้าใจ (ไม่ก็เรียนมาแล้ว แต่ก็ส่งคืนอาจารย์ไปหมดแล้วเช่นกัน)
หลังจากอ่านหนังสือ เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ จบไม่กี่วัน เราก็มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณหมอเอ้ว-นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ อดีตคุณหมอรักษาโรคมะเร็งที่ผันตัวมาเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เรื่องวิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่สนุกและน่าสนใจสำหรับคนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีผลงานหนังสือออกมาแล้วถึง 8 เล่ม รวมถึงคอนเทนต์ออนไลน์อีกมากมาย
GQ: ระหว่างเป็นหมอกับนักสื่อสารฯ ชอบอาชีพอะไรมากกว่ากัน?
ตอนเป็นหมอ ผมแฮปปี้กับงานมาก สมัยเรียนน่ะผมไม่ชอบ แต่ตอนที่ทำงานจะรู้สึกว่าเหมือนกับเรามีคุณค่าขึ้นมาในสังคม สมัยก่อนเราเป็นเด็กคนหนึ่งในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร เดินตามเขาไปเรื่อยๆ แต่ตอนเราไปใช้ทุน เราไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนที่ผมเป็นหมอเพียงคนเดียว หรือว่ามีหมอแค่สองคน แล้วก็ได้ช่วยชีวิตคนจริงๆ ผมยังจำได้เลย เคสแรกเนี่ยที่ผมได้ช่วยชีวิตจริงๆ คือเคสที่คนไข้อายุมากเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ผมดูเขาตั้งแต่ประมาณ 3-4 ทุ่มจนถึงเช้า ไปดูอีกทีเห็นเขานั่งกินข้าวต้มได้ ดูสดชื่น หลังจากตอนกลางคืนเขาเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ตลอดเวลา จากนั้นก็ส่งต่อเข้าโรงพยาบาลจังหวัด สุดท้ายเขาก็รอดชีวิต ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้เราฟิน รู้สึกว่าเรามีคุณค่ากับสังคม
ส่วนเรื่องงานเขียน ตอนนั้นผมเรียนที่เมืองนอก อายุสัก 20 กว่าๆ รู้สึกมีไฟ มีอุดมการณ์ ตั้งใจว่ากลับมาไทยจะเขียนหนังสือยื่นในสำนักพิมพ์ ตอนแรกๆ ส่งให้ทดลองดู คนก็ยังไม่ค่อยตอบรับเท่าไหร่ เราก็รู้สึกอยากจะทำเอง เรายินดีขาดทุน ตอนกลับมาค่อนข้างไฟแรง ตั้งใจว่าอย่างน้อยจะเขียน 3 เล่มก่อนที่จะกลับไปทำงานจริงจัง แล้วมันก็ลากไปเรื่อยๆ เพราะเรื่องแรกคนสนใจเยอะ เราก็เขียนต่อเล่ม 2, 3, 4 ก็ยังมีคนสนใจค่อนข้างมาก ชีวิตมันก็เลยเปลี่ยนโดยที่ไม่ได้แพลนเอาไว้ โดยรวมก็แฮปปี้ทั้งสองทาง
GQ: ความน่ายินดีของการทำงาน
ผมว่ามันก็แฮปปี้ มันเป็นเนเจอร์ของคนทุกคนอยู่แล้ว ที่ชอบให้คนชอบ เขามีความสุขเพราะเรา ขอบคุณเรา ซึ่งตอนที่ผมเป็นหมอเนี่ย คุณรักษาวันนี้อีก 2-3 วันเขาหายดี มีความสุข เขากลับบ้านได้ฟีดแบ็กดีๆ มันกลับมาเร็ว เขียนหนังสือก็เหมือนกันครับ ถ้ามันมีอิมแพ็กเราก็จะรู้สึกดีมีคุณค่า
GQ: ‘ความสุข’ คืออะไรในทางการแพทย์?
ถ้าเป็นคำที่เขาทำวิจัยกัน เขาจะบอกว่าเป็น Subjective ถ้าสมมติคุณรู้ว่าคุณมีความสุข คนส่วนใหญ่เวลาไปถามเขาว่าเขามีความสุขไหม ตรงนั้นวินาทีนั้นแล้วเขาตอบว่าเขามีความสุข คือเขารู้ว่าเขามีความสุข แต่มันก็มีคนมองในอีกนิยามหนึ่ง เขารู้สึกว่าความสุขของชีวิตเนี่ยมันคือซีรีส์ของความทรงจำที่เรามองย้อนเวลากลับไปในชีวิตเรา ว่าเราพอใจกับชีวิตที่เราเป็นหรือเปล่า
GQ: ถ้าในทางความรู้สึกของคุณหมอเอง?
ผมนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา ตอนนั้นผมไปเรียนต่อ ก็มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่าเหนื่อยมากเลย เวรมันหนักมาก แล้วผมอยู่คนเดียว และด้วยความที่ผมไปอยู่ที่เมืองนั้นแค่ปีเดียว ก็เลยไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ไม่ได้ซื้อทีวี ไม่มีอะไรเลย แต่มีอยู่คืนหนึ่งเราไปนั่งจิบกาแฟแล้วอากาศข้างนอกมันเย็นมาก เรารู้สึกว่ามันสงบ ก็เลยมานั่งคิดทบทวนว่าเราผ่านอะไรมาบ้างในชีวิต แล้วก็รู้สึกเหมือนกับเรามีความสุขขึ้นมา เป็นความสุขที่มีความสุขมากๆ รู้สึกว่าแพตเทิร์นของชีวิตเรามันดี ตอนนั้นก็เลยกลายเป็นความรู้สึกว่า เออเนี่ย ความสุขเนี่ยคือสมัยก่อนเราไม่เคยมีโอกาสที่จะมาหยุดนั่งคิดอะไรอย่างนี้ แต่พอเราหยุดแล้วลองมองย้อนกลับไป รู้สึกว่าในช่วงชีวิตที่ผ่านมามีอะไรดีๆ ในชีวิตเกิดขึ้นเยอะ แล้วมันเกิดความตระหนักว่า อ๋อ ชีวิตคนเรามันก็อย่างนี้
GQ: วิธีจัดการกับความทุกข์
ผมก็แก้ปัญหาไป เวลาพูดถึงความสุขมันไม่ได้แปลว่าทุกคนจะต้องมีความแฮปปี้ตลอดเวลา บางครั้งอารมณ์คงที่ที่เขาเรียกว่า Flow มันก็เป็นความสุข อันที่สองการที่เราบอกว่าชีวิตเรามีความทุกข์ มันไม่ได้แปลว่าเรามีแต่ช่วงที่ไม่แฮปปี้ บางครั้งเรามีความยากลำบาก แต่ไอ้อุปสรรคที่มันเข้ามาเนี่ย มันเหมือนกับเป็นจุดที่ทำให้เราเห็นความต่าง เป็นอุปสรรคที่ท้าทาย พอเรามองย้อนกลับไปมันก็เป็นอุปสรรคที่เป็นความสุข หลายครั้งสิ่งที่เรารู้สึกเหมือนกับมันลำบาก หรืออุปสรรคตอนนี้ ในอนาคตเวลาเรามองย้อนกลับไป มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราหัวเราะกับมัน เราจะแฮปปี้กับมัน เพราะเราเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งในชีวิต
GQ: New Normal ทางการแพทย์
มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นตัวไหนก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการ Empower คนไข้ การแพทย์จะย้ายไปอยู่ในมือของคนไข้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลต่างๆ หรือเทคโนโลยีต่างๆ มันไม่เหมือนกับสมัยก่อน ที่การแพทย์มีลักษณะของหมอที่เป็น Authority คือหมอมีหน้าที่สั่งว่าคุณต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้น ทำอย่างไร แต่ว่าเทรนด์นี้มันจะเป็นลักษณะที่หมอเป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจ หมอเป็นคนที่สรุปข้อความให้ สรุป Data ให้ และเป็นผู้ช่วย ส่วนการตัดสินใจต่างๆ จะไปอยู่ในมือของคนไข้มากขึ้น ผมเชื่อว่าอีกหน่อยถ้าคุณอยากตรวจเลือด ตรวจความดัน อาจจะไปแค่ปั๊มน้ำมันแถวบ้าน หรือหากมีปัญหาเร่งด่วนก็จะมีลักษณะ Telemedicine ไปที่ใกล้ก่อน ทุกอย่างมันจะย้ายไปอยู่ใกล้คนไข้มากขึ้น หลายอย่างคนไข้อาจจะดูแลด้วยตัวเองได้ ซึ่งทั้งเครื่องมือและแอปพลิเคชั่นต่างๆ จะทำให้คนไข้มีข้อมูลอยู่กับตัวมากขึ้น จนบางครั้งอาจไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
GQ: New Hope
ผมเ ชื่อว่ามนุษย์ดีขึ้นมาตลอด อย่างตอนนี้หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามีโรคระบาด โดนัลด์ ทรัมป์มีปัญหา อเมริกาเศรษฐกิจแย่ แล้วก็ยังทะเลาะกันอะไรมากมาย แต่ว่าเวลาอ่านประวัติศาสตร์แบบไม่หลอกตัวเอง จะพบข้อมูลที่บอกว่าโลกทุกวันนี้ดีกว่าสมัยก่อนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความกินดีอยู่ดีของมนุษย์โดยรวม เรื่องของความขัดแย้ง ความเสี่ยงตายจากโรคระบาด ความเสี่ยงตายจากสงคราม หรือเรื่องของสิทธิมนุษยชน การกดขี่ระหว่างกัน ผมว่า 200 ปีที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนไปเยอะมากๆ และผมเชื่อว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นกว่านี้ไปเรื่อยๆ